น้ำมันหลุด$40รอบ4เดือน คาดอุปสงค์จะอ่อนต่อเนื่อง หุ้นสหรัฐฯปิดลบ-ทองพุ่งแรง
โดย MGR Online
3 สิงหาคม 2559 05:19 น.
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันสหรัฐฯขยับลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนในวันอังคาร(2ส.ค.) หลังพบอุปสงค์อ่อน ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบตามแรงฉุดหุ้นกลุ่มยานยนต์ ความเคลื่อนไหวทั้งสองตลาดดันทองคำพุ่งแรง เหตุนักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 55 เซนต์ ปิดที่ 39.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่า 40 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 34 เซนต์ ปิดที่ 41.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อุปทานล้นตลาด อุปสงค์ที่อ่อนแอและความคาดหมายว่ากำลังผลิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ฉุดให้น้ำมันดำดิ่งมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน
เดือนกันยายน เป็นช่วงท้ายของฤดูกาลขับขี่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงพีคสุดของอุปสงค์น้ำมันเบนซิน แต่ด้วยคลังสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูงลิ่ว เหล่านักวิเคราะห์จึงสรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่อุปสงค์จะอ่อนแอต่อเนื่องไป อีกหลายเดือนข้างหน้า
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันอังคาร(2ส.ค.) ปิดลบพอสมควร โดยดัชนีหลักทำสถิติเป็นวันที่เลวร้ายสุดในรอบ 1 เดือน หลังข้อมูลเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ที่อ่อนแอเกินคาดหมาย กระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ
ดาวโจนส์ ลดลง 90.74 จุด (0.49 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 18,313.77 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 13.81 จุด (0.64 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,157.03 จุด แนสแดค ลดลง 46.46 จุด (0.90 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,137.73 จุด
หุ้นของฟอร์ดและเจเนรัล มอเตอร์ส ปิดลบมากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ หลังจาก 2 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ รายงานยอดขายรถยต์ประจำเดือนกรกฎาคม น้อยกว่าที่คาดหมายไว้
ในส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ พบว่ายอดใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนมิถุนายน แต่รายได้ส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าที่คาดหมายไว้ที่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2.0 เปอร์เซ็นต์ของเฟด นั่นจึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯแห่งนี้จะอยู่ในเส้นทางการขึ้น ดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง
การปรับลงของราคาน้ำมันและตลาดหุ้นสหรัฐฯ กระตุ้นให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ดันราคาทองคำในวันอังคาร(2ส.ค.) ปิดบวกแรง โดยตลาดทองคำโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 13.00 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,372.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์