ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดหนังสือ สตง.ถึง ?บิ๊กตู่? เผยผลสอบ ?โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง/สต๊อกยางรัฐ? ทั้งโครงการ ?ไม่บรรลุวัตถุประสงค์?  (อ่าน 730 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83024
    • ดูรายละเอียด
เปิดหนังสือ สตง.ถึง "บิ๊กตู่" เผยผลสอบ "โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง/สต๊อกยางรัฐ" ทั้งโครงการ "ไม่บรรลุวัตถุประสงค์"
14 สิงหาคม 2560 19:06 น. (แก้ไขล่าสุด 14 สิงหาคม 2560 19:38 น.)
เปิดหนังสือ สตง. ส่งถึงนายกฯ เผยผลตรวจสอบ ?โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางและการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐบาล? พบทั้งโครงการ ?ไม่บรรลุวัตถุประสงค์? แถม ?การบริหารจัดการสต๊อกยางไม่มีประสิทธิภาพตลอดทั้งวงจร ตั้งแต่การรับซื้อ การเก็บรักษา และการระบายสต๊อกยาง ทำให้โครงการมีช่องว่างทุจริตสวมสิทธิ์ แก้ปัญหาได้ยาก เหตุมีการกำหนดเป้าหมายมาจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ
       
        วันนี้ (14 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยเป็นรายงาน เรื่อง การตรวจสอบโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐบาล (ตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ให้นำสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพ ราคายางไปบริหารจัดการร่วมกับสต๊อกยางโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง) เพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน อันจะมีผลในเชิงป้องปรามเพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย และวิธีการในการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในส่วนของยางพาราและสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นไปโดย ประหยัดต่อไป
       
        จากการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ และการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐบาลจนถึงเพียงวันที่ 30 กันยายน 2559 สรุปได้ว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยไม่สามารถทำให้ราคายางพาราใน ตลาดปรับตัวขึ้นไปอยู่ระดับที่ 120.00 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคากลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในด้านการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่เป็นรูปธรรม เนื่องจากสถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีการยกระดับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และไม่มีการยกระดับการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และเป็นกลไกในการชะลออุปทานได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็นจากการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของการซื้อยางมาแปรรูปและเก็บรักษา (สต๊อกยาง) และการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการสวมสิทธิ์
       
        สตง. ได้ตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ทั้งในส่วนของ การรักษาเสถียรภาพราคายางและการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร สรุปได้ว่า
       
        1. โครงการมุ่งหวังในการใช้สถาบันเกษตรกรเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนความช่วยเหลือถึง เกษตรกรชาวสวนยาง และเพื่อให้สถาบันเกษตรกรเป็นกลไกหลักในตลาดยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยชะลอ หรือดูดซับอุปทานไม่ให้ออกสู่ตลาดมากจนเกินไป ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคายางใน ระยะยาว จากการสุ่มตรวจสอบและสัมภาษณ์ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 95 แห่ง พบว่า มีจำนวน 50 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 52.63 ของสถาบันเกษตรกรที่สุ่ม ตรวจสอบไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ ส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรม เพียงการรวบรวมยางจากสมาชิกแล้วนำมาขายให้แก่ อ.ส.ย. ในรูปของยางแผ่นดิบ หรือยางก้อนถ้วยเท่านั้น ส่วนสถาบันเกษตรกรที่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางตามที่กำหนดจำนวน 45 แห่ง ได้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ว่า ความสามารถในการแปรรูปยางนั้น ไม่ได้เป็นผลจากการเข้าร่วมโครงการ แต่ได้มีการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานก่อนการเข้าร่วมโครงการแล้ว
       
        ขณะที่ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ไม่มีการยกระดับในการดำเนินธุรกิจของตนเอง จากการตรวจสอบสถาบันเกษตรกรจำนวน 95 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีการพัฒนา หรือยกระดับการ ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 95 แห่ง พบว่า มีสถาบันเกษตรกร จำนวน 19 แห่ง ที่ไม่มีการดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมใดๆ ณ วันที่สังเกตการณ์ ในจำนวนนี้ มี 10 แห่ง ที่ไม่เคยดำเนินกิจกรรมใดๆ ตั้งแต่สมัครเข้าร่วมโครงการ ส่วนอีก 9 แห่งมีการดำเนินงานในช่วง ที่มีโครงการแต่ได้ยุติลงหลังจากโครงการสิ้นสุดการรับซื้อ
       
        สถาบันเกษตรกรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่ไม่มีการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงใน การดำเนินธุรกิจ พบข้อมูลว่า สถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงการดำเนินธุรกิจตามที่ ได้กำหนดไว้ พบว่า 14 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 14.74 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบเท่านั้น ที่ให้ข้อมูลว่ามีการพัฒนาหรือยกระดับ การรวบรวมและซื้อขาย จำนวน 9 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 9.47 จากจำนวนที่สุ่มตรวจสอบเท่านั้น ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการคุณภาพผลผลิต โดยมีการคัดคุณภาพยางจากสมาชิกเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการ
       
        ?สถาบันเกษตรกรบางส่วน มีการปฏิบัติทางบัญชีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจากการตรวจสอบการจัดทำบัญชีของสถาบันเกษตรกรจำนวน 75 แห่ง (จากสถาบันเกษตรกรที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 95 แห่ง มีจำนวน 20 แห่ง ที่ไม่มีการขายยางให้แก่โครงการ จึงมีการตรวจสอบการจัดทำบัญชีเฉพาะในส่วนที่มีการขายยางให้แก่โครงการจำนวน 75 แห่ง) พบว่า ณ วันที่ตรวจสอบ มี สถาบันเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่มีการจัดทำบัญชีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนด
       
        ?ไม่มีการจัดทำบัญชีและไม่มีเอกสารบัญชีให้ตรวจสอบจำนวน 9 แห่ง ไม่มีการแยกการจัดทำบัญชี ทะเบียนคุมต่างๆ ของโครงการออกจากการจัดทำบัญชีตามปกติของสถาบัน จำนวน 18 แห่ง ไม่มีการจัดทำเอกสารการขายยางให้แก่โครงการจำนวน 12 แห่ง ไม่มีการจัดเก็บเอกสารใบสำคัญสำหรับตรวจสอบ จำนวน 14 แห่ง?
       
        ที่พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุเป้าหมายในการทำให้ราคายางในตลาดมีเสถียรภาพในระดับ ประมาณ 120.00 บาทต่อกิโลกรัมได้ จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีการกำหนดราคารับซื้อในรูปแบบใดก็ตาม การดำเนินโครงการไม่สามารถทำให้ราคายางพาราตลาดในประเทศให้อยู่ในระดับ 120.00 บาทต่อกิโลกรัมตาม วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้
       
        โดยพิจารณาจากราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 เฉลี่ยรายเดือน ณ ตลาดกลาง ยางพาราหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 - เดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ โดยหลังจากเดือนมกราคม 2555 ราคาสูงสุดที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.96 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เท่านั้น แต่หลังจากการเปิดรับซื้อยางในเดือนมีนาคม 2555 ราคายางเฉลี่ยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่าง ต่อเนื่อง โดยราคาลดลงจนต่ำกว่า 100.00 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 และลดลงต่ำกว่า 90.00 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือน สุดท้ายของการรับซื้อ ราคายางเฉลี่ยปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 78.73 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
       
        นอกจากนี้ หลังจากสิ้นสุดการรับซื้อยางจนถึงสิ้นปี 2556 ราคายางในตลาดได้ปรับตัวลดลง อีกอย่างต่อเนื่อง จากราคากิโลกรัมละ 78.73 บาทในเดือนมีนาคม 2556 ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 72.31 บาทในเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง และได้มีการชุมนุมเรียกร้องจนถึงขั้นปิดถนนบริเวณสามแยกควรหนองหงษ์ อำเภอชะอวด จังหวัด นครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาการชุมนุมได้ขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในภาคใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออก
       
        สตง. ยังพบว่า การบริหารจัดการสต๊อกยางไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งวงจรโครงการ ตั้งแต่การรับซื้อ การเก็บรักษา และการระบายสต๊อกยาง โดยพบว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่ไม่เป็นนิติบุคคลเข้าร่วมโครงการได้ ทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการสต็อกยางตามมาทั้งระบบ แม้ในช่วงแรกมีการกำหนดคุณสมบัติให้สถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการได้
       
        จากรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการครั้งที่ 7/2555 วันที่ 5 ตุลาคม 2555 ได้มีการรายงานว่ามีสต๊อกยางในโกดังจำนวนทั้งสิ้น 63,406.37 ตัน และมียางที่ค้างอยู่ในโรงรมไม่สามารถเข้าจัดเก็บที่โกดังได้อีกจำนวน 46,408.18 ตัน รวมถึงมียางที่อยู่ระหว่างการผลิตอีกจำนวน 48,421.04 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่า โกดังเก็บยางที่จัดเตรียมไว้และได้รับอนุมัติจากบริษัทประกันภัยจำนวน 9 โกดัง มีการจัดเก็บเกือบเต็มพื้นที่แล้ว ทำให้ต้องมีการเร่งหาโกดังเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณยางอีก จำนวนมากที่ต้องรับซื้อจากสถาบันเกษตรกรและนำมาแปรรูปในเวลาอีกประมาณถึง 6 เดือน จนกว่าจะปิดการรับซื้อเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม การจัดหาโกดังเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากการเช่าโกดังจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทประกันได้พิจารณาเห็นชอบโกดังเป็นรายกรณี
       
        นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ได้เกิดกรณีเพลิงไหม้ที่บริษัทมิตรไทยโฮลดิ้ง จำกัด อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงงานรับจ้าง แปรรูปยางของโครงการ ซึ่งมีการรายงานว่าได้เกิดความเสียหายต่อยางโครงการ บริษัททิพยประกันภัยจึง ได้ชะลอการทำประกันภัยยางในโกดัง และในโรงงานต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และถึงแม้ว่าใน ภายหลังได้มีการจัดหาโกดังได้อย่างเพียงพอเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 36 โกดัง แต่ต้องใช้เวลาจนถึงเดือนตุลาคม 2556 จึงเสร็จสิ้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้มีการจัดหาโกดังเพิ่มนั้น โครงการไม่มีโกดังที่สามารถรองรับ ปริมาณยางได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ต้องมีการเก็บยางที่ผ่านการแปรรูปแล้วไว้ในโกดังของโรงงานซึ่งมีพื้นที่จำกัด โรงงานจึงต้องลดกำลังการผลิตลง ส่งผลให้ยางที่รับซื้อจากสถาบันเกษตรกรมีปริมาณคงเหลือเพื่อรอการแปรรูปจำนวนมาก จนในที่สุดต้องมีการชะลอการรับซื้อยาง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่เกษตรกรในบางพื้นที่
       
        ส่วนกรณีการจัดเก็บยางตามโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนด จากการสังเกตการณ์การเก็บรักษายางในโกดังจำนวน 33 โกดัง ในพื้นที่ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ พบว่า การจัดเก็บสต๊อกยางไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในส่วนของสภาพโกดัง การจัดวาง และ สภาพยาง (ยางแผ่นรมควันอัดก้อน และยางแท่ง)
       
        ?โกดังจำนวน 33 โกดัง พบว่า ไม่มีแห่งใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกข้อตามหลักเกณฑ์ และมีเพียง 5 โกดังเท่านั้น ที่เป็นโกดังสำหรับจัดเก็บยางพารา และมีจำนวนถึง 18 โกดัง ที่ไม่สามารถป้องกันฝุ่น ละอองได้ นอกจากนี้ ยังมีโกดังที่มีลักษณะอาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ พื้นโกดังไม่เป็นคอนกรีตขัดมันจำนวน 10 โกดัง และถนนบริเวณโกดังไม่เป็นถนนลาดยางหรือถนนคอนกรีตจำนวน 10 แห่ง ในส่วนของการป้องกันความชื้นนั้น มีโกดังที่มีคูระบายน้ำในโกดังจำนวน 10 โกดัง และพบร่องรอยความเปียกชื้น หรือน้ำขังจำนวน 7 โกดัง?
       
        ยังพบว่า สต๊อกยางของโครงการมีลักษณะเป็นสต๊อกที่อยู่นิ่ง (Dead Stock) โดยไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการ และการระบายสต๊อกที่มีความชัดเจน จากข้อมูลของ สตง. เห็นได้ว่า สต๊อกยางของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางมีลักษณะเป็นสต๊อกที่อยู่นิ่ง (Dead Stock) ซึ่งถ้านับจากวันที่ปิดการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ได้มีการลงนามในสัญญาขายยางในสต๊อก เป็นเวลาประมาณ 1 ปี 7 เดือน ที่สต๊อกยางของโครงการจำนวน 207,949.79 ตัน ไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการ และการระบายที่มีความชัดเจน
       
        นอกจากนี้ ยางปริมาณดังกล่าวมีการระบายออกไปเพียง 32,142.79 ตัน ทำให้ยังมีสต๊อกยางของโครงการคงเหลืออีกจำนวนถึง 175,807.00 ตัน ที่ยังไม่มี แนวทางการบริหารจัดการแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีสต๊อกยางโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพ ราคายางคงค้างอยู่จำนวน 142,728.69 ตัน ซึ่งเมื่อรวมกับสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางที่ค้างอยู่ ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระในการบริหารจัดการสต๊อกยางของทั้ง 2 โครงการต่อไปเป็นจำนวนถึง 318,535.69 ตัน
       
        ประเด็นต่อมา สตง. พบว่า การดำเนินโครงการมีช่องว่างทำให้การป้องกันการทุจริตเรื่องการสวมสิทธิ์ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครสถาบันเกษตรกรจนถึงขั้นตอนการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร พบว่า การสำรวจพื้นที่เปิดกรีดจริงไม่มีความชัดเจน และไม่เป็นแนวทางเดียวกัน การดำเนินโครงการได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการนำพื้นที่เปิดกรีดจริงของเกษตรกรชาวสวน ยางที่เข้าร่วมโครงการมาเป็นฐานในการคำนวณปริมาณยางสูงสุดที่เกษตรกรแต่ละรายสามารถนำมาขายได้ ในรอบระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตดังเช่นโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมา
       
        ซึ่งกระบวนการที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการป้องกันการสวมสิทธิ์ ได้แก่ การตรวจสอบสิทธิ การขายยางของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดว่าเป็นไปตามที่ ได้แจ้งไว้หรือไม่
       
        ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ ยังไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์ในระดับสมาชิกรายบุคคลของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้จากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงของพื้นที่บางประการที่อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้ว่าบางกรณีอาจมีการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดจริงอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์ได้ กล่าวคือ โครงการมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้นำพื้นที่เปิดกรีดจริงของเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการมาเป็นฐานในการคำนวณปริมาณยางสูงสุดที่เกษตรกรแต่ละรายสามารถนำมาขายได้ในรอบระยะเวลา 1 เดือน โดยหลักเกณฑ์ในช่วงแรกกำหนดให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ละรายนำยางมาขายต่อ 30 วัน กรีดได้ไม่เกิน 2.00 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน
       
        ?ตัวอย่างเช่น เกษตรกร รายหนึ่งมีพื้นที่เปิดกรีดจำนวน 50.00 ไร่ จะสามารถนำยางมาขายได้ไม่เกิน 3,000.00 กิโลกรัม (50.00 ไร่ X 2.00 กิโลกรัม X 30 วันกรีด) อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นจริงในพื้นที่อาจเป็นไปได้ว่า ในบางเดือนเกษตรกรอาจได้ผลผลิตไม่ถึง 3,000.00 กิโลกรัม (เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเกษตรกรทั่วไปโดย ปกติจะไม่กรีดยางทุกวัน) แต่อาจนำยางจากผู้อื่นมาสวมสิทธิ์ของตัวเองเพื่อให้ครบ 3,000.00 กิโลกรัม ซึ่งในกรณีนี้เป็นสถานการณ์ที่เกินวิสัยของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณปริมาณการรับซื้อสูงสุดจากเกษตรกรแต่ละราย?
       
        ทั้งนี้ พบว่า การกำหนดเป้าหมาย หลักเกณฑ์ และการแก้ไขปัญหาในการดำเนินโครงการที่สำคัญ มาจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ การดำเนินการในหลายกรณีมีเหตุผลเพื่อบรรเทาผลกระทบทางการเมือง มากกว่ามุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานอย่างแท้จริง เช่น การกำหนดเป้าหมายให้ราคายางใน ตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างยั่งยืนที่ 120.00 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เป็นการกำหนดตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเป็นสำคัญโดยไม่ได้มาจากการคำนวณจากข้อมูลที่รอบด้าน หรือการแก้ไขหลักเกณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรที่ไม่เป็นนิติบุคคลเข้าร่วมโครงการได้ มีปัจจัยหนึ่งจากข้อเรียกร้องของเกษตรกร นอกจากนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ปริมาณการรับซื้อยางจากเกษตรกร ในช่วงแรกไว้ไม่เกิน 2.00 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนวัน และจำนวนไร่นั้น เป็นไปเพื่อกระตุ้นยอด การรับซื้อยางในภาพรวมของโครงการเท่านั้น แต่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ
       
        อ่านรายงาน ฉบับเต็ม http://www.oag.go.th/th/inspection-results