เปิดข้อเสนอปฏิรูปยางทั้งระบบของ "ส.ชาวสวนยาง 16 จว.ใต้" ที่จะชงให้ถึงมือ "บิ๊กตู่" 28 พ.ย.นี้เผยแพร่: 27 พ.ย. 2560 14:26:00 โดย: MGR Online
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดข้อเสนอ ?สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้? ที่ต้องการจะส่งให้ถึงมือ ?บิ๊กตู่? ในที่ประชุม ครม.สัญจรสงขลา 28 พ.ย.นี้ เผยครอบคุลม 5 ด้านทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สวนยาง การผลิตและแปรรูป การตลาดและองค์กร กยท.นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (27 พ.ย.) ข้อเสนอของสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ที่จะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในการประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ ณ จ.สงขลา ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นในเรื่องของการปฏิรูปยางพาราไทยทั้งระบบ โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. ปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง 1.1. เกษตรกรชาวสวนยางต้องพึ่งพาตนเอง อยู่แบบพอเพียง และต้องลดการขอความช่วยเหลือจากรัฐ
1.2. แก้ไขระเบียบ กยท.ว่าด้วยสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางที่มีลักษณะแบบสงเคราะห์ และไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร โดยใช้กลไกมาตรา ๔๙(๕) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ลักษณะสังคมสวัสดิการ ในรูปแบบสมัครใจจ่ายสมทบ
ข้อเสนอเร่งด่วน : ให้การยางแห่งประเทศไทยจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่คนกรีดยางครัวเรือนละ ๓,๐๐๐ บาท เพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่สุดจากวิกฤติราคายางพาราตกต่ำในช่วงนี้1.3. ให้การยางแห่งประเทศไทยรับขึ้นทะเบียนชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ชาวสวนยางชายขอบเหล่านี้เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4
1.4 ให้จัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราหรือแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้การยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย ในการหารูปแบบทางเลือก ทางรอดของชาวสวนยาง รวมทั้งการสร้างสุขภาวะชาวสวนยาง
2. ปฏิรูปสวนยาง2.1. เปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยวิธีการสร้างความเข้าใจและสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางสมัครใจทำสวนยางอย่างยั่งยืน ด้วยการลดจำนวนต้นยางเหลือ 40 ต้นต่อไร่ กรณียางเปิดกรีดแล้ว เมื่อผ่านสมดุลนิเวศ 5 ปีขึ้นไป ปริมาณน้ำยาง 40 ต้นจะเท่ากันหรือมากกว่าปริมาณน้ำยางที่ปลูกแบบเชิงเดี่ยว 80 ต้นต่อไร่
2.2. กรณีสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ ๒๐ ล้านไร่ ให้ลดจำนวนต้นยางเหลือ ๔๐ ต้นต่อไร่ และให้ กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกพืชร่วมยาง ทำเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อลดต้นทุนและสร้างเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยแก้ระเบียบการปลูกแทนตามมาตรา ๔๙(๒) เพื่อสร้างแรงจูงใจและเป็นทุนดำเนินการ โดยให้ กยท.จ่ายเงินการปลูกแทนบางส่วนในสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว อัตราการจ่ายเงินปลูกแทนบางส่วนให้ขึ้นอยู่กับอายุต้นยาง
กรณีต้นยางที่มีอายุเกิน 25 ปี หรือหมดอายุการกรีด ซึ่งมีการจ่ายค่าปลูกแทน 16,000 บาทต่อไร่ ให้ กยท.จ่ายเงินค่าปลูกแทนเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้ปลูกยางในระยะ 4?10 เมตร = 40 ต้นต่อไร่ รวมทั้งส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยางนั้น
2.3. กรณีสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ ๕ ล้านไร่ ให้ กยท.ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำข้อตกลงและให้เกษตรกรชาวสวนยางขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย (ป่าสงวนเสื่อมโทรมในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ๓-๕) ซึ่งเกษตรกรต้องรวมกลุ่มเพื่อใช้สิทธิชุมชน (แปลงรวม) โดยต้องลดจำนวนต้นยางเหลือ ๔๐ ต้นต่อไร่ และให้ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า ๔๐ ต้นต่อไร่ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่าเศรษฐกิจ หรือป่ายางที่สมดุลนิเวศน์ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย
3. ปฏิรูปการผลิตและแปรรูป3.1. ส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางผลิตและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมยางใต้ถุนสำหรับคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย
3.2. ให้รัฐบาลประกาศนโยบายการใช้ยางในประเทศให้ถึง ๒๕% ภายใน ๒ ปี โดยกำหนดเป็นระเบียบตามกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม
4. ปฏิรูปการตลาด4.1. จากการลดปริมาณผลผลิตยางตามข้อ ๒.๒ และข้อ ๒.๓ รวมทั้งเพิ่มการใช้ยางในประทศตามข้อ ๓.๒ จะทำให้ลดอุปทาน หรือลดปริมาณซัพพลายยางลงชั่วคราว เป็นยุทธวิธีการพึ่งตนเพื่อต่อสู้กับตลาดล่วงหน้าหรือตลาดกระดาษ อันจะทำให้ราคายางเสถียรภาพในระดับ ๖๐-๗๐ บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเลยจุดคุ้มทุนที่เกษตรกรชาวสวนยางพอรับได้
4.2. ให้การยางแห่งประเทศไทยตั้งบริษัทค้ายางตามมาตรา ๑๐ เพื่อถ่วงดุลและรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และ กยท.ต้องเป็นพี่เลี้ยงทางการตลาดให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางส่งออกยางไปต่างประเทศแบบ spot market (ให้ กยท.เป็นเสือตัวที่ ๖ มิใช่เป็นลูกแมวในอุ้งตีน ๕ เสือในบริษัทร่วมทุนฯ)
4.3 ให้ลดการพึ่งพาตลาดประเทศจีน เพราะในขณะนี้จีนเริ่มเทคโอเวอร์บริษัทค้ายางของไทย ซึ่งอาจมีผลต่อการผูกขาดตลาดและเป็นอุปสรรคต่อการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้หาตลาดใหม่ๆ เข่น รัสเซีย หรือประเทศแถบอาหรับ
5. ปฏิรูปการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)คณะกรรมการการยางและผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย หมดความชอบธรรมในการบริหารงาน ดังนั้นจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยเฉพาะกิจ เพื่อทำการปฏิรูปการยางแห่งประเทศไทย โดยต้องคัดเลือกจากคนดี มีความรู้และความสามารถ มีคุณธรรม มีความเชี่ยวชาญเรื่องการยาง และเข้าใจเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘ โดยให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีส่วนร่วม และให้แต่งตั้งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยที่มีความรู้ ความสามารถและเชี่ยวชาญด้านการค้ายาง การผลิตและการแปรรูปยาง รวมทั้งมีทักษะในการเจรจาต่อรองและสร้างภาคีแนวร่วมได้ดี
เหตุผล : บอร์ดการยางหรือกรรมการโดยตำแหน่งในปัจจุบันประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงต่างๆที่ไม่มีเวลา เพราะเป็นกรรมการหรือบอร์ดในหลายหน่วยงาน ทำให้ขาดความตั้งใจและการทุ่มเทในการบริหารงาน อีกทั้งบอร์ดหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางขาดความกล้าหาญในการปฏิรูป กยท. ส่วนผู้ว่าการยางคนปัจจุบันขาดความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องยาง ขาดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน และสร้างความแตกแยกในองค์กรรวมทั้งในหมู่เกษตรกรชาวสวนยาง ทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยไม่เป็นเอกภาพขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญบอร์ดและผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย
ชุดปัจจุบัน ไม่ทำตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าและกินได้ ถ้ามีคนที่ใช้กฎหมายนี้เป็น พ.ร.บ.การยางฯ จะเป็นกลไกและเครื่องมือช่วยซับน้ำตาชาวสวนยาง และนำพาเกษตรกรชาวสวนยางข้ามหุบเหวแห่งความทุกข์ได้อย่างยั่งยืน