ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ผ่าทางตัน...ปรับปรุงการจัดเก็บเงิน 'Cess'  (อ่าน 657 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87601
    • ดูรายละเอียด
คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ผ่าทางตัน...ปรับปรุงการจัดเก็บเงิน 'Cess'


หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อังคารที่ 20 มีนาคม 2561 00:00:00 น.
 
ค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา หรือที่เรียกกันว่า เงิน "Cess" เป็นเงินที่ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จัดเก็บจากผู้ส่งออกยางนอกราขอาณาจักร เพื่อนำมาสมทบเป็นกองทุนพัฒนายางพารา ช่วยเหลือ สนับสนุนและส่งเสริมสวัสดิการให้เกษตรกร สถาบันเกษตร ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพาราทั้งระบบ ซึ่งล่าสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา กยท.ได้ปรับอัตราการจัดเก็บเงิน Cess ใหม่จากแบบขั้นบันไดตามราคายาง มาเป็นการจัดเก็บในอัตราคงที่ กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งจะส่งผลดีมากกว่า


 
คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ผ่าทางตัน...ปรับปรุงการจัดเก็บเงิน 'Cess'
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อังคารที่ 20 มีนาคม 2561 00:00:00 น.
 
ค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา หรือที่เรียกกันว่า เงิน "Cess" เป็นเงินที่ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จัดเก็บจากผู้ส่งออกยางนอกราขอาณาจักร เพื่อนำมาสมทบเป็นกองทุนพัฒนายางพารา ช่วยเหลือ สนับสนุนและส่งเสริมสวัสดิการให้เกษตรกร สถาบันเกษตร ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพาราทั้งระบบ ซึ่งล่าสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา กยท.ได้ปรับอัตราการจัดเก็บเงิน Cess ใหม่จากแบบขั้นบันไดตามราคายาง มาเป็นการจัดเก็บในอัตราคงที่ กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งจะส่งผลดีมากกว่า
ที่ผ่านมา กยท.จะเก็บเงิน Cess ได้ประมาณปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลตัวเลขการจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางพาราของ 3 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับยางคือ กยท. กรมศุลกากร และกรมวิชาการเกษตร ปรากฏว่าไม่ตรงกัน น่าจะมีการรั่วไหลของเงิน Cess ล่าสุดได้มีการประเมินเปรียบเทียบสถิติพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยโดยใช้ฐาน ข้อมูลเดิมเป็นเกณฑ์ พบว่า ปี 2560 มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 20.5 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิตประมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับตัวเลขการส่งออกยาง
 
ถ้าคิดแค่ปริมาณการส่งออกกับเงิน Cess ที่เก็บได้ก็ไม่น่าจะมีการรั่วไหล แต่ความเป็นจริง ล่าสุดได้มีการใช้ดาวเทียมของ Gistda สำรวจพื้นที่การปลูกยางพาราทั่วประเทศ พบว่าในปีเดียวกันคือปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางมากกกว่า 32 ล้านไร่ มากกว่าฐานข้อมูลเดิมกว่า 11 ล้านไร่
 
เทียบบัญญัติไตรยางศ์อย่างง่ายๆ ถ้าหากพื้นที่ปลูกยาง 32 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตยางที่ออกมาก็ไม่ควรจะน้อยกว่า 7.0 ล้านตัน และควรจะเก็บเงิน Cess ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,000 กว่าล้านบาทต่อปี แล้วเงิน Cess ที่ควรจะได้มาใช้พัฒนายางพาราไทยและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอีกกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี หายไปไหน?
 
นี่แหละคือที่มาของ "การปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร(Cess)"
 
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า กยท.ดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดเก็บเงิน Cess เพื่อให้มีความชัดเจนและโปร่งใส ข้อมูลตรวจสอบได้ทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตยางที่แท้จริงอาจคลาดเคลื่อนไปมาก และตัวเลขการส่งออกจริงอาจสูงกว่าที่เป็นอยู่ คณะกรรมการ กยท. ที่มี พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธาน ไม่นิ่งนอนใจได้มีความเห็น ว่า หากมีการลักลอบส่งออกยาง หรือการหลบเลี่ยงภาษีส่งออกจริงจะต้องดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายต่อผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิดให้ถึงที่สุด จึงได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องการหลบเลี่ยง การจ่ายเงิน Cess ขึ้นมา โดยประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรทั้งการลงพื้นที่เพื่อไปสังเกตุการณ์
 
ตามด่านต่างๆทั่วประเทศ และขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน นอกจากนี้คณะกรรมการ กยท. ยังได้เชิญผู้แทนจากกรมศุลกากร และสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมให้ข้อมูลในปัญหาต่างๆ ที่พบ และเหตุผลที่ กยท.จะปรับปรุงระบบการจัดเก็บเงิน Cess ใหม่ เนื่องจากเกิดการรั่วไหลจริง ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งระบบ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ กยท. ขาดความพร้อมเรื่องของเครื่องชั่งบริเวณด่านก่อนผ่านพิธีศุลกากร และที่สำคัญการปรับปรุงระบบการจัดเก็บเงิน Cess มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บสูงขึ้น เพิ่มคุณภาพการบริการ และมีความโปร่งใสในการบริหารงาน โดยสามารถดำเนินการผ่านระบบ NSW (National Single Window) เชื่อมโยงข้อมูลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางไปยังด่านต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างถูกต้องแม่นยำเป็นระบบสามารถตรวจสอบได้
 
"ปัญหาความรั่วไหลในการจัดเก็บเงิน Cess ถือเป็นเรื่องสำคัญของทั้งผู้บริหารและพนักงาน กยท. ที่จะร่วมกันในการสอดส่องดูแลเพื่อไม่ให้เกิด ช่องว่างให้กับกลุ่มคนใดหรือบุคคลใดเข้ามาหาประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะการบริหารจัดเก็บเงิน Cess เพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนายางพารา ถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ กยท.จะต้องดูแลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ในการนำไปพัฒนาวงการยางพาราไทยต่อไป" ผู้ว่าการ กยท.กล่าวย้ำ
 
สำหรับการปรับปรุงระบบจัดเก็บเงิน Cess นั้น คณะกรรมการ กยท.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แนวทาง การว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการปรับปรุงระบบทั้งหมด และเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด โดยที่ กยท. เป็นผู้ควบคุมขั้นตอนการดำเนินงานและจ่ายเป็นค่าจ้างให้ตามที่ตกลง จะประหยัดงบประมาณ แต่ได้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วกว่า กยท.ดำเนินการเอง จึงได้ประกาศหาผู้สนใจให้เสนอวิธีการปรับปรุงระบบการจัดเงิน Cess เมื่อเดือน มกราคม ปี 2561 ที่ผ่านมา
 
แต่...เกิดความเข้าใจผิด คิดว่า จะให้เอกชนมาจัดเก็บเงิน Cess แทน กยท. และได้ผลตอบแทนถึงร้อยละ 5 ของเงิน Cess ที่จัดเก็บได้ หากประเมินจากยอดเงิน Cess เดิมเอกชนจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท!!
 
โดยเฉพาะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ กยท. ทบทวนและยกเลิกการให้เอกชนจัดเก็บเงิน CESS และเห็นว่าการคิดอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 5 ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อพนักงาน และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กยท. ควรจะการพัฒนาต่อยอดการชำระเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่องโยงกับระบบการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากร (NSW) ที่ กยท.ทำอยู่ในปัจจุบันมากกว่า ซึ่งจะมีความสะดวกรวดเร็วและป้องกันการหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมได้
 
ในขณะเดียวกันแกนนำ ชาวสวนยางได้เรียกร้องไปยังชาวสวนยางทั่วประเทศร่วมคัดค้านการให้เอกชนจัดเก็บเงิน CESS เพราะเป็นการสูญเสียงบประมาณ และอาจเกิดช่องทางทุจริต
 
เรื่องนี้ร้อนถึงผู้ว่าฯ กยท. ต้องออกมาชี้แจงความจริง ดร.ธีธัชกล่าวว่า การให้เอกชนเข้ามาดำเนินการนั้น เป็นเรื่องของการวางระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ตั้งแต่จัดหาที่ดินบริเวณด่านต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 17 ด่าน ติดตั้งระบบเครื่องชั่งรถบรรทุกดิจิทัล มีความรู้เรื่องการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลของการ ส่งออกยางทั้งระบบของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ โดยระบบต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญของการส่งออกยาง และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการตลาดล่วงหน้า ประเมินความเสี่ยงของผู้ส่งออกยางแต่ละราย ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการสูญเสีย อุดรอยรั่ว พัฒนาระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
 
"ไม่ใช่การจ้างเอกชนมาเก็บค่าธรรมเนียมฯ ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ของ กยท.ยังทำหน้าที่รับเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบ NSW เช่นเดิม ในส่วนของอัตราค่าจ้าง อาจแตกต่างกันได้ตามวิธีการที่ผู้รับจ้างแต่ละรายเสนอมาให้พิจารณาคัดเลือก แต่เพดานสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ซึ่งจะต้องเป็นธรรมทั้งกับ กยท. และผู้รับจ้าง จึงขอยืนยันว่า โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของกองทุนพัฒนายางพารา อันเป็นหน้าที่สำคัญตามพ.ร.บ. กยท. พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ ว่าจะต้องดูแลให้เป็นไปเพื่อ ประโยชน์แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ในการนำไปพัฒนาวงการยางพาราไทย" ผู้ว่าการ กยท.กล่าวยืนยันอย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันความโปร่งใส ลดกระแสความไม่เข้าใจ กยท. จึงมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการรับข้อเสนอในการว่าจ้างเอกชนไปก่อน เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม และนำแนวทางต่างๆ ไปเสนอต่อคณะกรรมการ กยท. ในการประชุมประจำเดือนมีนาคม 2561 ที่จะถึงนี้
 
เรื่องการจับเก็บเงิน Cess เป็นปัญหาลึกลับซับซ้อนสะสมนานมาแล้ว อยากให้มองผลประโยชน์ที่ประเทศชาติ และเกษตรกรชาวสวนยางที่จะได้รับเป็นสำคัญ...ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่มีแต่ได้อย่างเดียว แต่ถ้าทำแล้ว ได้ผลประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่า ก็จะน่าจะทำ
เรื่องนี้....ผลจะออกมาเป็นอย่างไร 21 มีนาคม 2561 นี้น่าจะมีคำตอบ..
บรรยายใต้ภาพ
ธีธัช สุขสะอาด