ผู้เขียน หัวข้อ: ชาวสวนยางพาราตรังระส่ำ หลังโรคยางพาราใบร่วงชนิดใหม่บุกทำลายใบยางนับพันไร่  (อ่าน 768 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87572
    • ดูรายละเอียด
ชาวสวนยางพาราตรังระส่ำ หลังโรคยางพาราใบร่วงชนิดใหม่บุกทำลายใบยางนับพันไร่
 
สยามรัฐออนไลน์  22 พฤศจิกายน 2562 11:13  ภูมิภาค




ชาวสวนยางพาราตรังระส่ำ หลังโรคยางพาราใบร่วงชนิดใหม่บุกทำลายใบยางนับพันไร่และระบาดเพิ่มขึ้น ขณะที่กยท.เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้ามากำจัดและควบคุมพื้นที่ สั่งทุกพื้นที่เร่งสำรวจ

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมการยางแห่งประเทศไทย สาขาย่านตาขาว การยางแห่งประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง , นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มาพบปะและให้ความรู้กับผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่7 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ตัวแทนสถาบันเกษตรกรจ.ตรัง ตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง เกี่ยวกับปัญหาการระบาดของโรคยางพาราใบร่วงชนิดใหม่ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ที่ขณะนี้กำลังระบาดรุนแรงในหลายจังหวัดของภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ล่าสุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ประกอบด้วย จ.พังงา และล่าสุด ที่อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เพื่อเร่งให้ความรู้ รวมทั้งให้แนวทางในการลงพื้นที่ทำงานป้องกันควบคุมการระบาดในแต่ละจังหวัด เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่รุนแรงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างมาก เพราะหากมีการระบาดในแปลงใด ทำให้ใบร่วงเกือบ 100% ขณะที่น้ำยางหดหายไปประมาณ 50 - 60% และหากกำจัดหรือควบคุมไม่ได้อาจส่งผลต่อลำต้นทำเปลือกแห้งได้ สร้างผลเสียต่อพื้นที่สวนยางพารา และเกษตรกรจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก




ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำวิธีการกำจัดเชื้อราชนิดดังกล่าว โดยการใช้สารเคมี ทั้งการใช้เครื่องพ่น และการใช้โดรนบิน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยสั่งการให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจ และเตรียมพร้อมรับมือในการป้องกันกำจัด โดยในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง พบระบาดหนักมากที่สุดในจังหวัดพังงาแล้วประมาณ 20,000 ไร่ ขณะที่จังหวัดตรังพบแล้วในพื้นที่ 4 ตำบลของ อ.ย่านตาขาว ประกอบด้วย ต.โพรงจระเข้ ,ต.นาชุมเห็ด ,ต.หนองบ่อ และต.ทุ่งกระบือ เนื้อที่รวมแล้วประมาณ 400 ไร่ และอาจจะพบอีกในหลายอำเภอ หลังจากนั้นคณะได้ลงพื้นที่สาธิตวิธีการกำจัดเชื้อราในใบยางร่วงชนิดใหม่ ด้วยวิธีการใช้โดรนบินพ่นเหนือแปลงระบาดของนายประยูร นุกูลโรจน์ อายุ 86 ปี ในพื้นที่ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว เนื้อที่รวม 17 ไร่

นายประยูร บอกว่า สวนยางของตนเองใบร่วงมาแล้วประมาณ 2 เดือน เดิมเข้าใจว่าเป็นร่วงปกติทั่วไปเมื่อฝนตกบ่อย แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะใบร่วงเกือบหมดต้น และใบด่าง และน้ำยางหดลงเรื่อยๆ จากเดิมได้น้ำยางวันละประมาณ 50 กิโลกรัม แต่นานเข้าน้ำยางหดลงเรื่อยๆ เหลือวันละ 20 กิโลกรัม จนกระทั่งเหลือเพียงประมาณวันละ 14 กิโลกรัม จึงรู้ว่าเป็นโรคระบาดใบร่วงชนิดใหม่ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ และขณะนี้ต้องงดกรีดอย่างสิ้นเชิง รอเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ และบำรุงฟื้นฟูต่อไป

นายพยุงศักดิ์ อภิรัตนกุล ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง กล่าวว่า ในจังหวัดตรังพบการระบาดใน 4 ตำบลของ อ.ย่านตาขาว ประกอบด้วย ต.โพรงจระเข้ ,ต.นาชุมเห็ด ,ต.หนองบ่อ และต.ทุ่งกระบือ เนื้อที่รวมแล้วประมาณ 400 ไร่ ตอนนี้ก็ต้องเร่งกำจัด และควบคุมพื้นที่อย่าให้ลุกลามไปมากกว่านี้ แต่โรคนี้กำจัดยาก ต้องควบคุมพื้นที่ให้ดูที่สุด พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจทุกพื้นที่ หากพบต้องรีบรายงานและเร่งทำการกำจัดและควบคุมพื้นที่

ด้านนายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคยางพาราใบร่วงชนิดใหม่แล้วรวม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ,จ.ยะลา ,จ.พังงา และจ.ตรัง เนื้อที่รวมแล้วประมาณ 400,000 ไร่ ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทยเป็นห่วงพี่น้องประชาชน จึงมีการกำหนดมาตรการต่างๆออกมาทั้งมาตรการเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว แต่ขณะนี้ต้องใช้มาตรการเร่งด่วนในการกำจัดเชื้อและควบคุมพื้นที่ที่เป็นแล้วให้เร็วที่สุด ทั้งการให้ความรู้เจ้าหน้าที่ กยท.,เกษตรกร, สถาบันเกษตรกร ถึงวิธีการสังเกตโรค เทคนิคการใช้สารเคมี

"จึงมีการสาธิตวิธีการกำจัดโรคโดยการใช้โดรนในการฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งเป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งได้ทำการทดสอบทำจริง เพื่อดูว่าจะได้ผลหรือไม่ ส่วนสารเคมีที่ใช้ก็เป็นสารเคมีที่การยางแนะนำ โดยใช้ข้อมูลที่มีการรายงานมาจากต่างประเทศมาทดสอบ แต่เนื่องจากเชื้อนี้เป็นเชื้อชนิดใหม่ แต่ส่งผลเสียต่อพื้นที่ปลูกยางรุนแรง ทางการยางแห่งประเทศไทย จึงต้องเร่งทำงานอย่างเร่งด่วน มุ่งพื้นที่ที่เป็นแล้วด้วยการกำจัด และควบคุม หยุดยับยั้งเชื้อ ส่วนระยะที่ 2 ต้องดูพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งการกำจัด และป้องกัน ทั้งนี้ เป็นทำเพื่อแก้ปัญหา และศึกษาไปด้วย ซึ่งหากได้ผลก็ต้องขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ที่หลายคนเป็นห่วงเรื่องการใช้สารเคมีนั้น การดำเนินการจะผ่าน กยท.และผ่านสถาบันเกษตรกร ขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจสอบในเชิงวิชาการไปด้วยว่าสารที่แนะนำก็เป็นสารที่ถูกต้องตามหลักการใช้สารเคมี ผ่านการตรวจสอบความเป็นพิษแล้วว่าน้อยหรือแทบไม่เป็นพิษต่อผู้ใช้ และใช้ตามอัตราที่แนะนำและใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น จึงไม่ห่วงว่าจะมีใครมาต้าน"นายกฤษดา กล่าว

นายกฤษดา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการเร่งแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อราใบร่วงในยางพาราครั้งนี้นั้น เนื่องจากเป็นโรคชนิดใหม่ ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การรับมือแก้ปัญหาในครั้งนี้ จึงเป็นการทำงานควบคู่ไปกับงานด้านวิชาการ การจัดเก็บข้อมูล งานทดลอง ศึกษาวิจัยในทุกด้าน ทั้งลักษณะโรค สภาพสิ่งแวดล้อม ปัจจัยการเกิด การแก้ปัญหา การกำจัด ควบคุม การป้องกัน การศึกษาพันธุ์ยางที่สามารถต้านทานโรค จึงมีนักวิชาการจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงาน เพื่อร่วมศึกษาวิจัยกับภาระกิจการแก้ปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรในครั้งนี้