'เกษตร'ส่งออกมี.ค.ร่วง 'อาเซียน-จีน'ยังทรุด
วันอังคารที่ 29 เมษายน 2014 เวลา 10:41 น.
"พาณิชย์" เผยสินค้าเกษตร-อาหาร ฉุดส่งออกเดือนมี.ค. ลดลง 3.12% ฉุดไตรมาสแรกส่งออกลดลง 1% ระบุ ยาง กุ้ง อาหารทะเลส่งออกร่วงหนัก
กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาแถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนมี.ค. และไตรมาสแรก วานนี้ (27 เม.ย.) แม้สถานการณ์การส่งออกโดยรวมยังคงติดลบ แต่อัตราการติดลบลดลง กระทรวงพาณิชย์คาดว่าไตรมาส 2 การส่งออกจะกระเตื้องขึ้นมาและตลอดทั้งปีจะขยายตัวได้ 5 % ตามเป้าหมายที่วางไว้
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมี.ค.2557 มีการส่งออก มีมูลค่า 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 3.12% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 14.19% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเดือนมี.ค. 2557 มูลค่า 1,459 ล้านดอลลาร์
ไตรมาสแรกส่งออกลดลง 1%
ขณะที่การส่งออกช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 57) มีมูลค่า 5.62 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้าไตรมาสแรกมีมูลค่า 5.55 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 15.41% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยเกินดุลการค้าไตรมาสแรก 706 ล้านดอลลาร์
สินค้าเกษตรฉุดส่งออกเดือนมี.ค. ร่วง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือนมี.ค. กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เดือนก.พ. ส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.43% เป็นผลมาจากการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 8.2% สินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลง เช่น ยางพารา ลด 21% อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ลด 8.8% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ลด 25% น้ำตาล ลด 21%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.9% สินค้าสำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4.2% อัญมณีและเครื่องประดับ 30.4% เครื่องใช้ไฟฟ้า 0.7% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 7.9%
ระบุตลาดอาเซียน-จีนทรุดหนัก
ตลาดส่งออกสินค้าไทยเดือนมี.ค. พบว่า ตลาดหลักการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.7% โดยตลาดญี่ปุ่น เพิ่ม 1.6% สหรัฐ เพิ่ม 3.6% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่ม 2.9 % ส่วนตลาดศักยภาพสูง ลดลง 8.5% ประเทศที่ขยายตัวลดลง เช่น อาเซียน ลด 10.9% จีน ลด 11.2% ตลาดศักยภาพรอง ลดลง 5.3% ประเทศที่ขยายตัวลดลง เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลด 23.3% ละตินอเมริกา ลด 6.3% เป็นต้น
สินค้าเกษตรที่ส่งออกลดลง เช่น ยางพารา เป็นผลจากความต้องการของผู้นำเข้าลดลง ส่วนกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ไทยยังมีปัญหาเรื่องผลผลิตลดลง จากโรคตายด่วน ส่วนตลาดส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะอาเซียน และจีน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีอยู่ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
หวังไตรมาส2ส่งออกโต 4-4.5%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกในไตรมาสแรกจะลดลง 1% แต่ประเมินว่าการส่งออกในไตรมาสสองจะกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น 4-4.5% และครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวเพิ่ม 7-9% ทำให้การส่งออกทั้งปี 2557 ยังเติบโตตามเป้าหมายที่ 5% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกปีนี้ เติบโต 3.6-3.7% อัตราแลกเปลี่ยน 31.7 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมัน 100-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
?มองว่าการส่งออกไตรมาส 2 จะขยายตัว 4-4.5% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้ออกมาประเมินว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออก จากความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาภัยแล้ง และโรคตายด่วนในกุ้ง?
ชี้การเมืองนิ่งส่งออกโตได้ 10%
นางศรีรัตน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาการเมืองในประเทศนั้น ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการส่งออก และนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วง แต่เชื่อว่าจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง ผู้ผลิตสินค้าจะผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมากขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกขยายตัว แต่หากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพ เชื่อว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% แน่นอน
ขณะที่การนำเข้าที่ขยายตัวลดลงมากนั้น เชื่อว่าไม่กระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่ากลุ่มสินค้าทุนและวัตถุดิบ จะมีการนำเข้าลดลง แต่เป็นการนำเข้าลดลงเพียงชั่วคราว เพราะหากดูรายละเอียด เช่น น้ำมันดิบ ที่นำเข้าลดลง 21.8% มาจากปัญหาการปิดโรงกลั่น ทำให้มีการนำเข้ากลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มแทน
ด้านสินค้าทุนนำเข้าลดลงมาก มาจากเรือลด 54.5% และเครื่องบินโดยสาร 26.3% เมื่อช่วงปีที่แล้วมีการนำเข้ามาแล้ว ส่วนทองคำมีการนำเข้าลด 68.1% เป็นผลมาจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และเหล็กกล้า 29.5% เป็นผลจากอุตสาหกรรมเหล็กในตลาดโลกซบเซา
ประเมินทิศทางสินค้าเกษตรอ่วม
กระทรวงพาณิชย์ยัง ได้ประเมิน ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกสินค้าโดยสินค้าข้าว ราคาส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวขาว 5% ปรับตัวลดลง และมีระดับราคาที่ไม่แตกต่างกับประเทศคู่แข่ง จึงสามารถแข่งขันได้ ทำให้การส่งออกข้าวขาวไปยังโตโก มาเลเซีย และแคเมอรูน ขยายตัวมากขึ้น
ส่วนยางพารา มีความต้องการของผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่นปรับตัวลดลง รวมทั้ง เศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นชะลอตัว ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ยาง ประกอบกับสต็อกยางทั่วโลก ยังคงมีอยู่ในระดับสูง
ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง นั้น จีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญมีความต้องการใช้มันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง
"กุ้ง-ไก่"แปรรูปส่งออกลดลง
กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เกิดจากผลผลิตกุ้งลดลง เนื่องจากฟาร์มเพาะลูกกุ้งยังมีพ่อแม่พันธุ์จำกัด ประกอบกับความต้องการจากตลาดญี่ปุ่น ยังคงซบเซา จากการที่รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8% จะส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายในระยะสั้นๆ สินค้าผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ความต้องการผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูปในตลาดโลก มีสูง อาทิ ความต้องการข้าวโพดหวานกระป๋องในตุรกี และความต้องการลิ้นจี่กระป๋องในสหรัฐ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนมาตรการนำเข้าของอินโดนีเซีย ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะลำไย
สินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูป สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น หลังจากยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้า ประกอบกับลาว มีความต้องการบริโภคไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนน้ำตาลทรายนั้น อินโดนีเซีย ผู้นำเข้าน้ำตาลทรายรายใหญ่ ลดปริมาณการนำเข้าลง หลังจาก The Indonesian Sugar Council คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลปี 2557 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับอุปสงค์น้ำตาลทั่วโลกลดลง เนื่องจากในช่วงที่ราคาตกต่ำ ได้มีการซื้อขายไปเป็นจำนวนมากแล้ว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (29/04/2557)