เปลี่ยนน้ำเสียจากยาง สู่พลังงานทดแทน
ขยายผลงานวิจัย "ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียสหกรณ์กองทุนสวนยางเพื่อเป็นพลังงานทดแทน" ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเก่าร้าง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา โดยมี รศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ และคณะจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เป็นผู้วิจัย ที่นำน้ำเสียจากกระบวนการทำยางแผ่นมาหมักกับจุลินทรีย์ผลิตแก๊ส (มีเทน) เพื่อกลับมาใช้เป็นพลังงานความร้อนสำหรับรมควันยางแผ่น สามารถประหยัดต้นทุนในการซื้อฟืนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงได้ถึง 30% หรือเป็นเงิน 120,000 บาท/ปี จากเดิม ที่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงในการซื้อฟืนถึง 400,000 บาท/ปี
โดยระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเก่าร้าง จำกัด ใช้พื้นที่ทำบ่อหมักขนาด 500 ลบ.ม. โดยเป็นพื้นที่ของสหกรณ์ และใช้ต้นทุนในการก่อสร้าง 400,000 บาท (เฉพาะค่าวัสดุ) เน้นใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไป เช่น ท่อพีวีซี สำหรับส่งน้ำเสียลงบ่อ และท่อส่งก๊าซกลับสู่เตา ผ้าใบพีวีซี สำหรับคลุมบ่อ เป็นต้น ทั้งนี้ในการวางแนวท่อจะวางให้นัำสามารถไหลได้เองตามแรงโน้มถ่วง เพื่อประหยัดต้นทุนเรื่องเครื่องปั๊ม และค่าไฟฟ้า
ระยะเวลาคืนทุน รศ.ดร.สุเมธ กล่าวว่าไม่เกิน 8-10 ปี ขึ้นอยู่กับราคาไม้ฟืน (ขณะนี้ราคา 80 สต. /กก.) แต่ระบบดังกล่าวมีค่าบำรุงรักษาน้อยมาก แม้จะใช้รมทุกวัน เฉลี่ยประมาณ 120-150 วัน หรือ 8 เดือน/ปี อีกทั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้เป็นเชื้อที่มาจากกระบวนการทำยางแผ่นอยู่แล้ว และไม่ตัองให้อาหารหรือเพิ่มเชื้อ
นอกจากนี้ คุณภาพยางจากการรมโดยใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงยังให้ยางที่ใสกว่า เพราะไม่มีปัญหาเรื่องเขม่าควัน ทำให้ขายได้ราคาดีเกษตรกรได้เงินปันผลเพิ่มขึ้น 30% ในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน มีการขยายผลระบบก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียฯ ด้วยการร่วมทุนกันระหว่างสหกรณ์ สกย. และกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คิดเป็นราคา 800,000-1,500,000 บาท/แห่ง โดยขยายผลสู่สหกรณ์กองทุนสวนยางเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง ใน 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ตรัง และพัทลุง เปลี่ยนน้ำเสียจากทั้ง 10 สหกรณ์ รวมกัน 5 ล้านกิโลกรัม /ปี. เป็นพลังงานแทนไม้ฟืนได้ 1 ล้านกิโลกรัม/ปี คิดเป็นเงิน 1.65 ล้านบาท/ปี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (26/05/2557)