ผู้เขียน หัวข้อ: (เพิ่มเติม) เทสต๊อกยาง 2.1 แสนตัน 7 บิ๊กส่งออกวิ่งใส่สนองคสช.รับซื้อเท่าตลาด/พ่อค้ากดราคารอฟันกำไร ชาวสวนดิ้นอีกเฮือกรวม  (อ่าน 1280 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84880
    • ดูรายละเอียด
เทสต๊อกยาง 2.1 แสนตัน 7 บิ๊กส่งออกวิ่งใส่สนองคสช.รับซื้อเท่าตลาด/พ่อค้ากดราคารอฟันกำไร ชาวสวนดิ้นอีกเฮือกรวมพลเบรกเทสต๊อก



คสช.ไฟเขียวระบายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน 7 บิ๊กส่งออกยางวิ่งแข่งเสนอราคารับซื้อ ระบุให้เท่าราคาตลาด ที่ล่าสุดต่ำสุดรอบ 6 ปี ขณะวงการแฉยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว รู้แกวกว้านซื้อยางตุนสต๊อก กดราคาซื้อจากเกษตรกรต่ำติดดิน หวังฟันกำไรยางขาขึ้น โอดน้ำยางสดเหลือ 5 โล 100 ด้านชาวสวนยางร้องศาลปกครองเบรกขายอีกรอบ ดีเดย์ 22 ส.ค. รวมพลกดดันให้มติเป็นโมฆะ


กรณีราคายางพาราในประเทศตกต่ำต่อเนื่อง ขณะก่อนหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ได้มีมติที่จะระบายยางพาราในสต๊อก 2.1 แสนตัน แต่ถูกกลุ่มชาวสวนยางยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง (16 พ.ค.) เพื่อให้ระงับการระบายเพราะเกรงจะยิ่งซ้ำเติมราคายางให้ตกต่ำลงไปอีก ต่อมาในวันที่ 28 พฤษภาคม ศาลปกครองกลางได้สั่งชะลอการระบายยางชั่วคราว อย่างไรก็ดีจากวันนั้นจนถึง ณ วันนี้ (19 ส.ค.) ราคายางยังรูดลงเรื่อยๆ จากระดับกว่า 60 บาท เหลือเพียงกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม


ไฟเขียวขายยาง 2.1 แสนตัน


แหล่งข่าวจากหนึ่งในผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของประเทศเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคสช. เป็นประธาน ได้มีมติให้ อ.ส.ย. นำยางพาราในสต๊อกจำนวน 2.1 แสนตันมาระบายให้ผู้ส่งออก โดยให้เสนอซื้อเข้ามาโดยตรงว่าต้องการซื้อในปริมาณเท่าใด ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคายางในปัจจุบัน


โดยล่าสุด (18 ส.ค.57) มีรายงานว่าได้มีผู้ส่งออกรายใหญ่จำนวน 7 รายได้เสนอซื้อยางในสต๊อกรัฐบาลต่อนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรี ซึ่งนายชวลิตได้รับซองเสนอซื้อจากผู้ส่งออกทั้ง 7 รายเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1.บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) 2.บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) 3.บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.) 4.บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี 5.บจก.เซาท์แลนด์รับเบอร์ 6.กลุ่มบริษัทถาวรกรุ๊ปฯ และ 7.บจก.ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์


ทั้งนี้ราคาที่เสนอซื้อยางในสต๊อก จำนวน 2.1 แสนตันยังไม่ขอเปิดเผย แต่ได้เสนอซื้อในราคาใกล้เคียงราคาตลาด จากปัจจุบันราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2557 ยางแผ่นดิบราคาอยู่ที่ 51.77 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 54.72 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเอฟโอบี (กรุงเทพฯ) อยู่ที่ 57.80 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 6 ปี


ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วกดซื้อเก็งกำไร


พ่อค้ายางพารารายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากภาวะฝนตกชุกในหลายพื้นที่ปลูกยางของประเทศ ทำให้ราคาน้ำยางสดใกล้เคียงกับราคายางแผ่นดิบหรือสูงกว่าในบางช่วง ขณะที่ผู้ส่งออกบางรายหาซื้อน้ำยางสดไม่ได้ สาเหตุมาจากมีพ่อค้าคนกลางที่เป็นยี่ปั๊ว-ซาปั๊วบางราย กว้านซื้อยางราคาถูกจากชาวสวน โดยกดราคาต่ำ อ้างความเสี่ยงราคายางในตลาดโลกและราคายางในสต๊อกรัฐบาล จึงทำให้รับซื้อยางจากเกษตรกรได้ในราคาถูก บางหมู่บ้านน้ำยางสด 5 กิโล กรัม ขายได้เพียง 100 บาท โดยพ่อค้ากลุ่มนี้จะเป็นคนมีเงินที่อาศัยช่วงราคาต่ำซ้อนซื้อเก็บสต๊อกไว้ ทั้งนี้เพื่อรอรัฐบาลเทขายยางในสต๊อก 2.1 แสนตันออกมา ซึ่งเชื่อจะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นในภายหลัง ขายแล้วจะมีกำไร


"สาเหตุที่มองว่ารัฐบาลต้องระบายยาง เพราะเก็บไว้ในสต๊อกประมาณ 2 ปีแล้ว มีทั้งค่าเช่าและประกันภัยค้ำคออยู่ และที่สำคัญทั้งโลกรู้ว่าเรามียางในสต๊อกเท่าไหร่ หากเก็บสต๊อกไว้จะยิ่งดึงราคาให้ตกต่ำ ขณะที่ผู้ส่งออกขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออก จึงเป็นที่มาของการขายยางในครั้งนี้"


ก.เกษตรฯ ฮึ่ม! พ่อค้าทำยางตก


ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระ ทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางตกต่ำขณะนี้ว่า มีความเคลือบแคลงและสงสัยว่าพ่อค้าจะกดราคารับซื้อยางจากเกษตรกร ทั้งที่ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยบวกหลายประการ อาทิ อุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อยจากภาวะฝนตกชุกในหลายพื้นที่ปลูกยางของไทย ขณะที่สหรัฐอเมริกาหนึ่งในผู้ใช้ยางรายใหญ่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนจีนผู้ซื้อยางรายใหญ่สุดของไทยปริมาณสต๊อกลดน้อยลงมาก ขณะอุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายประเทศที่ต้องใช้ยางพาราเป็นชิ้นส่วนก็เริ่มมีทิศทางสดใสขึ้น


"สงสัยว่าสต๊อกพ่อค้ามีจริงหรือไม่ อาจจะเป็นสต๊อกลม แล้วใช้มากดราคารับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเรากำลังหาวิธีการบีบพ่อค้าให้ปลดล็อกราคารับซื้อ ปัจจุบันราคาที่พ่อค้าเสนอขายเอฟโอบี ส่วนต่างสูงมากเกือบกิโลกรัมละ 78 บาท แต่ราคาในประเทศเหลือเพียงแค่ 50 บาท น่าจะมีพิรุธ ส่วนเรื่องการขายยางในสต๊อกนั้นเป็นนโยบายของคสช. หลังจากที่บริษัทผู้ส่งออกมายื่นเสนอซื้อแล้ว จะส่งเรื่องไปให้ทีมงานของ พล.อ.ฉัตรชัย พิจารณาว่าจะขายหรือไม่ หลังจากนั้นถึงจะนำเสนอเข้าบอร์ด อ.ส.ย. ต่อไป เพื่อให้บอร์ดมีมติแล้วต้องประเมินผลชดเชยการขาดทุนต่อ คสช."


เตรียมขอชดเชย 9 พันล้าน


ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การสวนยาง หรือบอร์ด อ.ส.ย. กล่าวว่า หากคสช.มีนโยบายให้มีการขายยางในสต๊อกทั้งหมด ทางอ.ส.ย. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโครงการนั้นจะต้องขอชดเชยขาดทุนในโครง การรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยคิดคำนวณการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่ต้นทุนกิโลกรัมละ 110 บาท วงเงินที่ใช้ไป 2.2 หมื่นล้านบาท โดยนำราคาตลาด สมมติกิโลกรัมละ 60 บาท นำมาคำนวณโดยนำมาหารกับจำนวนสต๊อกยางทั้งหมด จะได้ผลลัพธ์ชดเชยการขาดทุนคาดว่าอย่างต่ำ 9 พันล้านบาท ทั้งนี้ราคายางยิ่งต่ำ การชดเชยการขาดทุนจะยิ่งสูงตามไปด้วย


ขอศาลคุ้มครองเบรกขายอีก


อย่างไรก็ดีจากที่กนย.ภายใต้ คสช.ได้อนุมัติให้มีการระบายยางในสต๊อก 2.1 แสนตัน ล่าสุด (19 ส.ค.57) นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยว่า ศาลปกครองกลางได้เรียกตัวแทน 4 สถาบันเกษตรกรเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับ นายชนะชัย เปล่งศิริวัชย์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ผู้รับมอบอำนาจจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายชนะชัยชี้แจงแถลงต่อศาล ว่า เดิม บอร์ด อ.ส.ย. ได้มีมติยกเลิกการขายยางในสต๊อกไปแล้ว ดังนั้นจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถขายยางได้ ศาลจึงได้ขอเอกสารยืนยัน หากได้รับหนังสือชี้แจงจาก อ.ส.ย.จะกำหนดวันนัดไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการระบายยางในครั้งนี้เชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะยังอยู่ในความคุ้มครองของศาลอยู่ มติ กนย. ที่ดำเนินการประชุมโดย พล.อ.ฉัตรชัย จะต้องถือเป็นโมฆะ


"การเทขายยางในสต๊อกครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อชาวสวนยาง 1.19 ล้านครัวเรือน รวมผู้เกี่ยวข้องในวงจรอุตสาห กรรม 12 ล้านครัวเรือน จึงเรียกร้องให้คสช. ระงับการระบายยางในครั้งนี้โดยเร็ว เพราะขณะนี้พ่อค้าส่วนใหญ่ยังไม่กล้าซื้อยาง เพราะเชื่อว่าราคาน่าจะลงต่ำกว่านี้ อีกทั้งบางรายก็กดราคาซื้อต่ำเพราะป้องกันการขาดทุน"


รวมพล 22 ส.ค.เบรกขาย


เช่นเดียวกับ นายสังข์เวิน ทวดห้อย ประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรขายยางแผ่นดิบได้ 51.61 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนการผลิตที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้คำนวณไว้อยู่ที่ 65.25 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นปัจจุบันเกษตรกรขาดทุนอยู่ 13.64 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก ดังนั้นเครือข่ายชาวสวนยางทั่วประเทศที่มีการปลูกยางใน 63 จังหวัด จะยื่นหนังสือราคายางตกต่ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ ขณะที่จะมีการประชุมชาวสวนยางทั่วประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมเคพี แกรนด์ จันทบุรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการขายยางในสต๊อก


"ที่ผ่านมาในสายตาชาวสวนยาง มอง คสช.เป็นฮีโร่ แต่วันนี้กลายเป็นว่าโครงการต่างๆ ที่เสนอโดยเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยางภายในประเทศ กลับไม่เอาเลย อาทิ การนำไปทำเป็นตัวหนอนปูพื้นใช้ในโรงพยาบาลหรือสนามเด็กเล่น การนำยางพารา 5% ผสมยางมะตอยไปราดถนน แต่จะมาขายให้กับผู้ส่งออกแทน นับว่าเป็นการซ้ำเติมชาวสวนยาง เวลานี้น้ำยางข้นที่พ่อค้ารับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท หรือ 5 กิโล 100 บาท"


แนะขายตอนปิดกรีดยางก.พ.58


ด้านนายสวัสดิ์ ลาดปาละ นายกสมาคม เครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย กล่าวว่าในหลักการระบายยางในสต๊อก 2.1 แสนตันไม่ให้กระทบเกษตรกรควรทำดังนี้ 1.ใช้ภายในประเทศให้มากที่สุด 2.ระบายยางออกสู่ตลาดใหม่ 3.ระบายยางในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม และต้องไม่ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนไปมากกว่าที่เป็นอยู่ 4.ควรระบายยาง ตอนปิดกรีดยางช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558




ฐานเศรษฐกิจ