ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 931 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88322
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่  9  ตุลาคม  พ.ศ. 2558
ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่นและตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 70 - 80 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ หลายพื้นที่กรีดยางได้เพิ่มขึ้น

2. การใช้ยาง


- กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์เดือนกันยายนอยู่ที่ 333,759 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี เพราะได้รับแรงหนุนจากยอดส่งออกรถยนต์และยอดจำหน่ายที่แข็งแกร่งในตลาดภายในประเทศ ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เดือนกันยายนปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 203,762 คัน

3. เศรษฐกิจโลก


- รายงานการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงให้เห็นว่าเฟดมีความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังค่อนข้างต่ำ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยเฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน เนื่องจากมองว่าเงินเฟ้อไม่แข็งแกร่งพอที่จะสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน

- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนเดือนสิงหาคมลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14

- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า ดัชนีชี้นำของ OECD บ่งชี้ถึงการขยายตัวที่ชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา จีน และญี่ปุ่น ทั้งนี้ดัชนีคอมโพสิตชี้นำ (CLTS) สำหรับสมาชิก 34 ชาติของ OECD เดือนสิงหาคมขยับลงร้อยละ 0.1 สู่ระดับ 99.9 จาก 100.0 ในเดือนกรกฎาคม

- รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประจำวันที่ 3 กันยายน 2558 เปิดเผยว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงต่ออัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาผลกระทบของความผันผวนของตลาดการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อการขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อของยุโรป

- ธนาคารกลางฝรั่งเศสประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 สู่ร้อยละ 0.2 ส่วนปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 1.2 ขณะที่ปี 2559 และ 2560 จะขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 1.9 ตามลำดับ

- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมเยอรมันมียอดเกินดุลการค้า 1.96 หมื่นล้านยูโร ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน และยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะเกินดุล 2.25 หมื่นล้านยูโร เนื่องจากยอดส่งออกลดลงถึงร้อยละ 5.2 ขณะที่ยอดนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 35.69 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.27 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 119.98 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.06 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤศจิกายนปิดตลาดที่ 49.43 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.62 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากมุมมองที่ว่าการลำเลียงขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลางอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่รัสเซียเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย โดยพุ่งเป้าหมายทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (IS) นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ปิดที่ 53.05ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.72 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 162.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 173.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.7 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 130.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่แล้วลดลง 13,000 ราย สู่ระดับ 263,000 ราย ตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในรอบกว่า 40 ปี และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง

- หน่วยงานวิจัยด้านสินเชื่อของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จำนวนบริษัทล้มละลายช่วงเดือนเมษายน - กันยายน ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 4,388 ราย ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 25 ปี

8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะผู้ประกอบการหลายรายรอให้ราคาสูงขึ้นเพื่อจะขายสินค้าในสต๊อคที่ซื้อไว้ก่อนหน้านี้ ประกอบกับผลผลิตยังคงมีน้อย และคาดว่าภาคใต้อาจมีฝนตกเพิ่มขึ้นในอีก 1 - 2 เดือน

?แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และนักลงทุนขานรับรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ประกอบกับคาดว่าจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากมาตรการที่ใช้ก่อนหน้านี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้ ส่วนปัจจัยลบมาจากเงินบาทแข็งค่า และอุปสงค์ยางโดยภาพรวมยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา