วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์กระจายร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สมาคมรถยนต์โดยสารจีนเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์โดยสารเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังจากรัฐบาลจีนปรับลดภาษีจากการซื้อรถยนต์ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ที่ซบเซาในตลาดของประเทศ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์และรถยนต์เอนกประสงค์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 อยู่ที่ 1.85 ล้านคัน
3. เศรษฐกิจโลก
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อคสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนสิงหาคม
- ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 93.1 สูงกว่าระดับ 90.0 ของเดือนตุลาคม และสูงกว่าระดับ 91.5 ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า เดือนตุลาคมยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1เมื่อเทียบเป็นรายเดือน บ่งชี้ว่าชาวสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีระมัดระวังต่อการใช้จ่าย
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แต่เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI ลดลงร้อยละ 1.6
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาส 3 ลดลงจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 2 โดยการชะลอตัวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจเยอรมันมีการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาส 3 ลดลงจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 2 ขณะที่เศรษฐกิจกรีซหดตัวลงร้อยละ 0.5 ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสเปนมีการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่ 3
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาส 2
- สำนักงานสถิติเยอรมันเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 2
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ปรับเพิ่มการประเมินผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน โดยระบุว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากการประเมินเบื้องต้นที่ร้อยละ 1.0
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ G20 ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อลดความเสี่ยง
- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 หดตัวลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ และเมื่อเทียบรายไตรมาสปรับตัวลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่รุนแรงกว่าที่คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 0.3
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.93 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.08 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 122.54 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.06 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคมปิดตลาดที่ 40.74 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.01 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจสูงกว่าอุปสงค์
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 43.61ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.45 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม อยู่ที่ 149.6 เยนต่อกิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง และส่งมอบเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ 159.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.7 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 124.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางจีนกล่าวว่า จีนจะทำให้ระบบตลาดเงินมีความทันสมัยมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะเปิดทางให้ธุรกิจการเงินเปิดดำเนินการมากขึ้น เพื่อให้ตลาดการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางน่าจะทรงตัว เพราะปริมาณผลผลิตมีน้อย หลายพื้นที่กรีดยางไม่ได้ 2 - 3 สัปดาห์ ทำให้ราคายางยังคงทรง ๆ ถึงแม้ว่าปัจจัยลบจากต่างประเทศจะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงเข้าใกล้ 40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล และความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนปัจจัยบวกมาจากเงินบาทอยู่ในระดับอ่อนค่า และอุปทานยางออกสู่ตลาดน้อย เพราะภาคใต้ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา