วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1.สภาพภูมิอากาศ
- บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีอากาศหนาวและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 40 ของพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2.การใช้ยาง
- สมาคมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) รายงานว่า ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติของประเทศ สมาชิก ANRPC ลดลงเกือบร้อยละ 1.0 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของตลาดจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ จากข้อมูลสถิติ ANRPC ระบุว่า ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติในเดือนตุลาคม ปีนี้ ผลิตได้ 8.94 ล้านตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม ปีที่แล้วร้อยละ 0.9 และประเทศสมาชิก ANRPC ส่วนใหญ่ได้ปรับการผลิตยางธรรมชาติให้ลดลงจากเดิม ทำให้ ANRPC ได้ประมาณการปริมาณการผลิตยางธรรมชาติของสมาชิกในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 10.937 ล้านตัน
ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่มีปริมาณการผลิต 10.952 ล้านตัน
3. สต๊อกยางจีน
- สต๊อกยางจีน วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 มีจำนวน 228,612 ตัน เพิ่มขึ้น 1,769 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.78 จาก 226,843 ตัน ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558
4. เศรษฐกิจโลก
- ประธานาธิบดีจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวราวร้อยละ 7.0 ในปีนี้ โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีสัดส่วนสูงถึงหนึ่งในสามของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
- กระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยว่า การลงทุนโดยตรงในประเทศ (ODI) ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 หากเทียบรายปีแตะที่ 9.521 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558
- รัฐมนตรีฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะขยายตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ หดตัวลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวมอยู่ในภาวะหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการขยายตัวที่อ่อนแอในต่างประเทศ ทั้งนี้ดัชนีขยับขึ้นสู่ระดับ -10.7 จาก -11.4 ในเดือนตุลาคม
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.96 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 123.34 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.91 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดตลาดที่ 41.74 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.0 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรีย หลังจากที่เกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีส เมื่อวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 0.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 44.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ 148.1 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ 156.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.8 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 122.1 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- ประธานาธิบดีจีน เสนอให้มีการสร้างความแข็งแกร่งในด้านการประสานงานเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค การพัฒนาโดยการใช้นวัตกรรมและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจสู่สากลเพื่อผลักดันเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่งขึ้น
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลต่อการก่อการร้ายในฝรั่งเศสและสหรัฐฯ
8. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ
- ราคายางน่าจะลดลงเล็กน้อย เพราะตลาดต่างประเทศยังคงซบเซา ขายออกยาก ไม่มีผู้ซื้อ และหากมีผู้ซื้อก็ถามซื้อในราคาต่ำ ขณะที่ปริมาณผลผลิตยังคงมีน้อย ทำให้ราคาในประเทศไม่ปรับลดลงมากตามราคาตลาดล่วงหน้า
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สาเหตุเพราะนักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายในสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งยางพารา ซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรป อย่างไรก็ตามราคายางยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า รวมทั้งราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา