วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในอินเดียเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนมกราคมลดลงสู่ระดับ 1,680,303 คัน เทียบกับ 1,690,527 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยรายงานว่าดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด - แอตแลนติก ขยับขึ้นสู่ระดับ -2.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ -3.5 ในเดือนมกราคม ซึ่งดัชนียังคงติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
- คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจประจำเดือนมกราคมลดลงร้อยละ 0.2 สู่ระดับ 123.2 หลังจากลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือนธันวาคม และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยการลดลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการปรับลงของราคาหุ้นและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เดือนมกราคมญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 6.4594 แสนล้านเยน หรือ 5.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจากยอดส่งออกเดือนมกราคมของญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 5.35 ล้านล้านเยน โดยหดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 18.0 อยู่ที่ 6.00 ล้านล้านเยน ทำสถิติปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13
- องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD) ประกาศปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.0 เท่ากับการขยายตัวในปีก่อน ขณะที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปีนี้ ขณะเดียวกัน OECD ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจดังนี้
เศรษฐกิจญี่ปุ่น อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.0
เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 2.5
เศรษฐกิจยูโรโซน อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากเดิมที่ร้อยละ 1.8
เศรษฐกิจจีน คงแนวโน้มการขยายตัวที่ร้อยละ 6.5
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.65 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 112.78 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.17 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 30.77 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.11 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะได้รับแรงกดดันจากรายงานว่าสต๊อคน้ำมันเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดที่ 34.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.22 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์ทีแล้ว ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 504.1 ล้านบาร์เรล โดยเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ในช่วง 6 สัปดาห์
ที่ผ่านมา
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคมอยู่ที่ 142.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 151.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.6 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 125.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.1 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งใหม่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้กระทรวงระบุว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามราคาต่างประเทศที่เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน และเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประกอบกับมีผู้ขายล่วงหน้าไว้จำนวนหนึ่งจึงพยายามกดดันราคาไม่ให้สูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตที่ลดลง และผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความต้องการซื้อเพื่อเก็บสต๊อคและส่งมอบ ทำให้ราคายางไม่เปลี่ยนแปลงมากในระยะนี้
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการแข็งค่าของเงินเยน และนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก หลังจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงสู่ระดับร้อยละ 3.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 อย่างไรก็ตาม อุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อย และมาตรการรับซื้อยางของรัฐบาลยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา