วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป อุณหภูมิสูงสุด 39-43 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีพายุลูกเห็บเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้อากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส และมีฝนตกบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่
2. การใช้ยาง
- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม (สอท.) กล่าวว่า เดือนมีนาคมส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 109,334 คัน ลดลงร้อยละ 14.33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม - มีนาคม มียอดส่งออก 307,760 คัน ลดลงร้อยละ 6.23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. เศรษฐกิจโลก
- รัฐบาลเยอรมันประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2560 เนื่องจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปึหน้าสู่ระดับร้อยละ 1.5 จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2558 ที่ร้อยละ 1.8 ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 1.7
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมีนาคมลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลง
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตลาด ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อผ่อนคลายภาวะสภาพคล่องตึงตัว โดย PBOC ได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 2.5 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบตลาดผ่านทางข้อตกลงซื้อพันธบัตร โดยมีสัญญาขายคืนอายุ 7 วัน
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ลดลงร้อยละ 88.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.08 ล้านล้านเยน (9.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับตัวลงของต้นทุนนำเข้าน้ำมันดิบ
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 109.74 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.79 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดตลาดที่ 42.63 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.55 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมิถุนายน ปิดที่ 45.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.77 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 538.6 ล้านบาร์เรล แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 193.7 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 4.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกันยายน อยู่ที่ 199.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 5.2 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 178.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 4.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐฯ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายบ้านมือสองในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 5.33 ล้านยูนิต ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5ฃ
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ปริมาณยางที่มีน้อย และความต้องการซื้อของผู้ประกอบการในประเทศ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายงานว่าไม่มียางให้ซื้อ และราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้ไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก เพราะไม่มียางให้ซื้อและขายออก
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่เหนือระดับ 42 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า รวมทั้งนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่อุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อยยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อราคายางอย่างต่อเนื่อง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา