นำร่องซื้อยาง'เอกชน-เกษตรกร'ปลดแอก'พ่อค้าคนกลาง'ที่ระยองที่มา คมชัดลึก 20/6/59นำร่องซื้อยาง'เอกชน-เกษตรกร'ปลดแอก'พ่อค้าคนกลาง'ที่ระยอง : ดลมนัส กาเจ

ในที่สุดความพยายามในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในระดับพื้นที่ ที่จะให้ผู้ประกอบการรับซื้อน้ำยางโดยตรงจากเกษตรกรได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แล้วที่ จ.ระยอง ถือเป็นจุดกำเนิดแห่งแรกของประไทยที่ได้นำนโยบาย ?ประชารัฐ? มาเป็นตัวขับเคลื่อน จนทำให้เกิดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู การซื้อ-ขายน้ำยาง ระหว่างบริษัทเอกชนยักษ์ระดับโลกที่ส่งออกน้ำยางข้น ?ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น? กับ ชุมนุมสหกรณ์ระยอง จำกัด เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายเสนอ ชูจันทร์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.ระยอง และเป็นรายได้ของเกษตรกรกลุ่มใหญ่ แต่ที่ผ่านมาราคายางตกต่ำ เกิดปัจจัยอื่นอีกมากมายรัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาอยู่ ในส่วนของจังหวัดระยองเองพยายามหาทางช่วยเหลือเกษตรกรด้วยเกษตรกรเอง เพื่อระบายผลผลิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งการแปรรูป ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน โดยอาศัยกลไกลของรัฐบาลในรูปแบบ ?ประชารัฐ? ที่เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ภาคประชาชน และสถาบันเกษตรกร จะเห็นได้จากในพื้นที่ จ.ระยอง มีโรงงานกว่า 2,000 โรง ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งมีบริษัทผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้นการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหายางพาราอีกแนวทางหนึ่ง แต่การที่จะประสบความสำเร็จลงได้จำเป็นต้องอาศัยการรวมกลุ่มรวมตัวกันของพี่ น้องเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมๆ กับน้อมนับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง การรวมกันซื้อ รวมกันขาย รวมกันผลิต และรวมกันจำหน่าย ในรูปแบบสหกรณ์ เกิดความสามัคคี ทำให้บริษัทมารับซื้อโดยตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
สอดคล้องแนวคิดของ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ที่มองว่า ในพื้นที่ จ.ระยอง มีพื้นที่ปลูกยางมาก มีโรงงานรับซื้อ โรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางส่งออกจำนวนมาก ส่วนการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการซื้อขายยาง ที่บริษัทได้มาซื้อขายยางโดยตรงกับเกษตรกร ถือว่าเป็นโอกาสดีของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจ.ระยอง ที่ได้มีการรวมตัวกัน และการทำข้อตกลงในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งในอนาคตรัฐบาลน่าจะมีการวางยุทธศาสตร์ยางเพื่อให้เกิดเป็นนโยบายยางใน การแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป
สำหรับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อ-ขายน้ำยางครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืนของเกษตรกร ชาวสวนยางใน จ.ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง ที่จะช่วยเหลือให้เกษตรกรชาวสวนยางขายยางในราคาที่เป็นธรรม และการหาเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง (DRC) ให้ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งเพื่อเป็นการรวมตัวเกษตรกรในการสร้างอำนาจต่อรองผู้ซื้อและผู้ขาย ในปริมาณน้ำยางและราคาที่เป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายและเพื่อให้เกษตรกรได้เรียน รู้ในระบบตลาดล่วงหน้าของตลาดโลก และราคาที่เป็นไปตามกลไกของตลาดโลกด้วย
ด้าน นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกน้ำยางข้นมากที่สุดในโลก บริษัทไทยรับเบอร์ฯ ได้ทำธุรกิจรับซื้อน้ำยางข้นในพื้นที่ จ.ระยอง มาตั้งแต่ปี 2515 มีความผูกพันกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอย้างมาก และภูมิใจที่ได้มีการทำเอ็มโอยูกับเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากในอดีตการซื้อขายโดยตรงกับเกษตรกรเป็นเรื่องยาก เพราะเกษตรกรไม่เข้าใจในระบบ จึงไม่ขายให้โรงงานโดยตรง ทั้งที่บริษัทไทยรับเบอร์ฯ พยายามไปสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องถึงวิธีการรับซื้อน้ำยางข้น ที่ต้องอาศัยใช้หลักการวัดเป็นค่า DRC หรือปริมาณเนื้อยางที่มีอยู่ในน้ำยาง ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศซื้อกันจะวัดจากค่า DRC ทั้งหมดแล้ว
การที่เกษตรกรได้รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ และสร้างเครือข่าย รวมตัวกันขายน้ำยางสดในครั้งนี้มั่นใจว่าจะเกิดผลดีกับเกษตรกร เพราะไม่มีใครมาเก็บค่าต๋ง หรือไม่มีพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งบริษัทไทยรับเบอร์ฯก็สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบโดยตรง ไม่ต้องเอาอนาคตไปผูกติดกับพ่อค้าคนกลางต่อไป โดบริษัทไทยรับเบอร์ฯ จะให้ราคาเป็นธรรม และสามารถซื้อแบบไม่อั้นได้ และจ่ายเงินสดทันทีอีกด้วย
ส่วน นายเฉลา ฉิมพู ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดระยอง จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ราคายางพาราไม่ต่างไปกว่าปีที่แล้ว ทางออกที่จะช่วยเกษตรกรได้ในวันนี้ หากต้องการให้มีการซื้อขายยางภายในประเทศจำเป็นต้องยึดหลักการรวมกันซื้อ รวมกันขาย มานั่งพูดคุยกับผู้ประกอบการ ทุกคนทุกฝ่ายต้องมาจับมือช่วยแก้ปัญหาด้วยกัน อย่างการรวมตังตั้งระบบกระบวนการสหกรณ์ นับเป็นก้าวแรกของการรวบรวมผลผลิตยางพารา จึงต้องขอขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่ได้มาช่วยกันในวันนี้ หากราคายางแพงก็คงจะไม่มีเวทีลงนามเอ็มโอยูขึ้นมา
ขณะที่ นายเสนอ ชูจันทร์ มองว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นตัวอย่างที่ดีของ จ.ระยอง ที่ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และแกนนำเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ถือเป็นต้นแบบของจังหวัด ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์จะให้การสนับสนุนหน่วยงานในระดับบน แต่ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จจะขึ้นอยู่กับพื้นที่เป็นสำคัญ
?การจัดตั้งของสหกรณ์ วัตถุประสงค์คือ ต้องการให้มีการรวมซื้อ รวมขาย เป็นหลัก ส่วนเรื่องการกู้เป็นการเพิ่มสภาพคล่องเท่านั้น ที่ผ่านมาพยายามแนะนำส่งเสริม แต่อาจเป็นการขับเคลื่อนไม่กี่หน่วยงาน กรมส่งเสริมสหกรณ์อยากให้เกิดโครงการความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้และสนับสนุน ส่งเสริมไปในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทำด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน? นายเสนอ กล่าว
นับเป็นมิติใหม่ของวงการซื้อ-ขายยางพารา ที่ผู้ประกอบการรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ตกแก่เกษตรกรมากขึ้น โดยเฉพาะค่าส่วนต่างที่พ่อค้าคนกลางขูดรีดมายาวนานนั่นเอง