ทฤษฎีผลประโยชน์ตลาดหุ้น ในมุม..พิชัย จาวลา
"ผมสังเกตว่าทำไมคนเก่งๆ การศึกษาดีหลายคน ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ทำไมนักลงทุน 100 คนจะได้กำไรจากหุ้นแค่ไม่กี่คน ที่สุดก็ได้ข้อสังเกตว่า "ผู้ชนะ" ในตลาดหุ้นจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเหมือนกับทฤษฎี 80:20 ที่บอกว่าคนส่วนน้อยเพียง 20% จะเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ 80% เสมอ"
การนั่งถอดความคิดทีละเปลาะเป็นที่มาของ "ทฤษฎีผลประโยชน์" ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด ?สองชั้น? คือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง "ตรงข้าม"
หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม ?เหตุผล? แท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง "ข้ออ้าง" ถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น "แบล็กมันเดย์? ปี 2530 หรือ ?แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส" ปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ ?ข่าวร้าย? แต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ "ซื้อหุ้น" ที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย)
"ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน"
นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ ?เทขายเงินบาท? อย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน
"นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น "ความจริง" อยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่"
พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส
บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ "สัจธรรม" ในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น "คนส่วนน้อย" เพื่อจะเป็น "ผู้ชนะ" ในตอนจบ
Money Plus: ปัจจุบันผมเลือกเข้าหุ้นที่มั่นใจจากการวิเคราะห์ของตัวเอง ก่อนนักวิเคราะห์ออกบทวิเคราะห์เสมอ ทันทีที่เห็นบทวิเคราห์ออกมาจะยิ่งมั่นใจ และถือได้ทนนานยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้มาจากการทำการบ้านอย่างหนักครับ
ที่มา Money Plus