ชาวสวนยางสตูลเข้มแข็ง! เดินเครื่องเปิดตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพาราสงขลาเผยแพร่: 18 ม.ค. 2561 12:54:00 ปรับปรุง: 18 ม.ค. 2561 13:23:00 โดย: MGR Onlineสตูล - ชาวสวนยางพาราใน จ.สตูล ต้องเข้มแข็ง เดินเครื่องเปิด ?ตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา? พร้อมลุยแปรรูปทั้งโต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า และอื่นๆ หวังป้อนสู่ตลาดวันนี้ (18 ม.ค.) ที่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล นายวิโชค พรหมคงบุตร ผอ.การยางแห่งประเทศไทย จ.สตูล กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2545 สมาชิกแรกตั้ง จำนวน 6 สหกรณ์ มีทุนดำเนินงานครั้งแรก 9,000 บาทเศษ ปัจจุบันเป็นปีที่ 15 ของชุมนุมฯ นับตั้งแต่ก่อตั้ง และมีการพัฒนาการเจริญเติบโตตามแผนพัฒนาชุมนุมยาวถึงปัจจุบัน ชุมนุมมีสมาชิก จำนวน 16 สหกรณ์ และสมาชิกสมทบ 2 กลุ่ม มีทุนดำเนินงาน 2,757,200 บาท ให้บริการสมาชิกฯ 7 กิจกรรม คือ
1.รวบรวมยางแผ่นรมควันส่งตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา 2.อัดก้อนยางแผ่นรมควันมาตรฐาน GMP 3.แปรรูปผลิตภัณฑ์แผ่นพื้นสนามกีฬา 4.แปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้กวาดน้ำยาง 5.แปรรูปผลิตภัณฑ์รองเท้ายางพารา 6.แปรรูปผลิตภัณฑ์เก้าอี้ยางพารา และ 7.จัดหาสินค้าทางการเกษตรให้แก่สมาชิกฯ
ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมหลักของชุมนุมฯ คือ การรวบรวมยางแผ่นรมควันจากสมาชิกฯ ซึ่งสร้างมูลค่าเป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ทำให้การยางแห่งประเทศไทย มองเห็นถึงศักยภาพของชุมนุมฯ และสามารถยกระดับจากการเป็นจุดรวบรวมยางพารารมควัน ให้เป็นตลาดเครือข่ายของตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา
ตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา และการยางแห่งประเทศไทย จ.สตูล วัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่รวบรวมผลผลิตจากยางพาราจากสมาชิกฯ ให้บริการซื้อขายยางภายใต้กฎ และระเบียบที่ตลาดกลางกำหนด ซึ่งจะได้รับสิทธิ และราคาประมูลเหมือนเป็นการขายที่ตลาดกลาง ทำให้ช่วยลดปัญหาด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งมีราคาอ้างอิงที่ชัดเจน
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รอง ผวจ.สตูล ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา พร้อมกล่าวขณะเปิดพิธี ว่า ปัจจุบัน จ.สตูล มีพื้นที่กรีดยางพารา 1,331,767 ไร่ มีผลผลิต 303,981 กิโลกรัมต่อปี ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรใน จ.สตูล ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพารา เกษตรกรโดยมากจะส่งขายในรูปของน้ำยางสดให้แก่สหกรณ์กองทุนสวนยาง และรวบรวมแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เช่น แผ่นปูพื้นสนามกีฬา ยางล้อรถยนต์ เป็นต้น โดยในกระบวนการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ ไม่มีราคาที่แน่นอน ไม่มีการคัดชั้นยาง ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่ไม่ยุติธรรม
เครือข่ายตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ของการยางแห่งประเทศไทย จะช่วยลดปัญหาด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง มีราคาอ้างอิงชัดเจนที่ถูกกำหนดโดยตลาดยางพาราแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการลดปัญหา เนื่องจากตลาดกลางยางพารามีเพียง 6 แห่งทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ต้องการขายยางให้แก่ตลาดกลางยางพาราเข้าถึงได้ยาก
การจัดตั้งตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ขึ้นในวันนี้ จะทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง และสหกรณ์กองทุนสวนยางได้รับความยุติธรรมในการซื้อขายยาง มีราคาอ้างอิงที่ชัดเจนทุกวัน และที่สำคัญ ทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงตลาดได้ง่าย เนื่องจากตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้บ้านเกษตรกรผู้ที่ขายยางพารากับตลาดเครือข่ายจะได้รับสิทธิตามราคาที่ประมูล เสมือนหนึ่งเป็นการขายที่ตลาดยางพารา ของการยางแห่งประเทศไทย