ผู้เขียน หัวข้อ: กสม.ชี้2รง.ยางแท่งอุดรเหม็นละเมิดสิทธิชุมชน  (อ่าน 851 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87601
    • ดูรายละเอียด
กสม.ชี้ 2รง.ยางแท่งอุดรเหม็นละเมิดสิทธิชุมชน


กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ 2 โรงงานยางแท่งยักษ์ ต.หนองนาคำ ละเมิดสิทธิชุมชุนตามรัฐธรรมนูญ ร่อนหนังสือแนะผู้ว่า-อุตฯ-ทส.-การยาง แก้ไขด่วนใน 90 วัน พร้อมแนะโรงงานปิดตัวเองปรับปรุง ขณะทีมนายกตู่มีนัดฟัง ?วิจัยฉบับชาวบ้าน? 8 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นางกิตติชา ธานีเนียม หรือ ?ครูเตี้ย? ข้าราชการครูบ้านจำปา ม.7 ต.หนองนาคำ อ.เมือง เปิดเผยว่า ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จากกลิ่นเหม็นของโรงงานยางแท่งของ บ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จก.(มหาชน) และ บ.วงษ์บัณฑิต จก. ติดต่อกันมากว่า 6 ปี กำลังมีความหวัง หลังจากชาวบ้านส่งตัวแทน ?แต่งชุดไทยย้อนยุค? ไปร้องเรียนช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมา จ.หนองบัวลำภู ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)มีความเห็น และผู้ตรวจราชการพิเศษจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะมาติดตามข้อเท็จจริงในพื้นที่
นางกิตติชา ธานีเนียม กล่าวว่า การร้องเรียนหน่วยงานในพื้นที่ ก็ไม่สามารถแก้ไขให้เด็ดขาดได้ ในปี 2559 ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีคณะอนุกรรมการเดินทางมาตรวจสอบหลายครั้ง จนปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับแจ้งจากนายบุญเกื้อ สมนึก รองเลขาฯ กสม. ถึงผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ตามหนังสือรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชน ที่ 125/2561 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2561 ความยาว 11 หน้า ลงนามโดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. และคณะกรรมการอีก 5 ท่าน
กสม.มีความเห็นว่า โรงงานทั้งสองละเมิดสิทธิชุมชน พร้อมมีข้อเสนอและมาตรการ หรือแนวทางในการป้องกัน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโรงงานทั้งสอง คือ 1.จ.อุดรธานีควรบูรณาการ แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องไม่ปล่อยให้ประชาชน ได้รับผลกระทบยาวนานเหมือนที่ผ่านมา ภายใน 90 วัน , 2.กระทรวงอุตสาหกรรมควรดำเนินการ ระงับการขยายกำลังผลิต หรือการเดินเครื่องผลิต ส่วนที่ขยายโรงงานไว้ก่อน จนกว่าจะจัดทำระบบป้องกัน ตามเงื่อนไขอนุญาต ภายใน 90 วัน , กำกับดูแลโรงงานทั้งสอง ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจัดให้มีมาตรฐานยางดิบ และมาตรฐานโรงงานแปรรูปยางพารา ตลอดจนจัดทำนโยบายเร่งด่วน ให้เกษตรกรใช้กรดอินทรีย์แทนกรดซันฟิวริก
3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจัดให้มีการตรวจสอบมลภาวะ จากโรงงานยางพาราในภาคอีสานต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตามมาตรฐานตรวจสอบมลพิษ ในส่วนเกี่ยวข้องกันกลิ่นเหม็น กรดซัลฟิวริก ระบบบำบัดน้ำเสีย และมาตรฐานน้ำทิ้ง กรณี 2 โรงงานในอุดรธานี ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินการให้ผู้ก่อมลภาวะ ต้องชดใช้ความเสียหายจากการฟื้นฟู , 4.กระทรวงสาธารณสุข ควรจัดให้มีการตรวจสุขภาพ บำบัดรักษา ผู้ได้รับผลกระทบ อย่างเร่งด่วน และต่อเนื่อง
5.การยางแห่งประเทศไทย ควรจัดให้มีมาตรการสนับสนุนหรือส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการรับซื้อยางจากเกษตรกร ใช้กรดอินทรีย์แทนกรดซันฟิวริก ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเกษตรกร ลดผลกระทบต่อมลพิษในกระบวนการผลิต และช่วยให้ประเทศไทยผลิตยางมีคุณภาพ ไม่ปนเปื้อนกรดซันฟิวริก และ 6.โรงงานยางแท่งทั้ง 2 โรง ควรปรับปรุงระบบธรรมมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการระงับการดำเนินการของโรงงานโดยสมัครใจ และเปิดดำเนินการใหม่เมื่อได้รับการปรับปรุง ระบบผลิต กองยาง บำบัดน้ำเสีย กำจัดไอระเหย รวมถึงมีมาตรการชดเชยค่าเสียหาย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
นางกิตติชา ธานีเนียม กล่าวว่า ชาวบ้าน ต.หนองนาคำ ไม่ได้ออกมาประท้วงหรือกดดัน แต่พยายามเรียกร้องสิทธิตลอดมา โดยในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ชาวบ้านเตรียมนำเสนอผลงาน ?วิจัยฉบับชาวบ้าน? ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานยางแทง 2 โรงรวมกันใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันทำงาน 1 ปีเศษที่ผ่านมา ให้กับคณะผู้ตรวจราชการพิเศษจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หวังว่านอกจากชาว ต.หนองนาคำ จะได้รับการแก้ไขปัญหา แต่รวมทั้งชาวบ้านทั่วประเทศ ที่ต้องทนกลิ่นเหม็นอยู่เหมือนกันขณะนี้
นางพาขวัญ กาจหาญ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้รับเอกสารของคณะกรรมการฯ กรณีการร้องเรียนโรงงานยางแท่ง และทราบว่าได้ส่งข้อเสนอแนะให้หลายหน่วยงาน โดยกำหนดแนวทางเป็นข้อๆ ในส่วน สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ก็ได้ดำเนินการเร่งรัดแก้ไขปัญหาตลอดมา

ที่มา https://udon-today.com/2018/05/05/610505-3/