ผู้เขียน หัวข้อ: 'ส่งออกจีน' วิกฤติหนัก ภาษีทรัมป์ชัตดาวน์โรงงาน แห่ย้ายฐานผลิตมา 'อาเซียน'  (อ่าน 89 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87419
    • ดูรายละเอียด

'ส่งออกจีน' วิกฤติหนัก ภาษีทรัมป์ชัตดาวน์โรงงาน แห่ย้ายฐานผลิตมา 'อาเซียน'

28 เม.ย. 2025 เวลา 16:00 น.

'ส่งออกจีน' วิกฤติหนัก ภาษีทรัมป์ชัตดาวน์โรงงาน แห่ย้ายฐานผลิตมา 'อาเซียน'

ภาษีทรัมป์ เริ่มส่งผลกระทบการผลิตของ ?จีน?  บรรดาโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวอาจถึงขั้นปิดกิจการ หลังสูญเสียคำสั่งซื้อทั้งหมดจากสหรัฐ
รัฐบาลจีน-แอปอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ดันผู้ผลิตฝ่าความท้าทาย บุกตลาดในประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ แต่คนซื้อเริ่มเบื่อแคมเปญช่วยซื้อสินค้าผู้ส่งออก
หลายบริษัทกำลังย้ายฐานการผลิตไปแถบเอเชียใต้ รวม  'อาเซียน' พร้อมให้ความสำคัญกับลูกค้าในตลาดอื่นแทน 

ซีเอ็นบีซี รายงานว่าแรงกดดันจากมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี ?โดนัลด์ ทรัมป์? เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของ ?จีน? อย่างชัดเจน  ตอนนี้บรรดาโรงงานหลายแห่งต้องตัดสินใจหยุดสายการผลิตชั่วคราว และหันไปแสวงหาตลาดใหม่  เนื่องจากสูญเสียคำสั่งซื้อจากสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคการผลิตจีนอีกด้วย

ตลอดเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนหลายครั้งจนแตะระดับ 145%  ซึ่งรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตอบโต้ด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ แม้ว่าทรัมป์จะยืนยันล่าสุดเมื่อ 24 เม.ย.68 ว่าการเจรจาทางการค้ากับจีนยังคงดำเนินต่อไป แต่ทางฝ่ายจีนกลับออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการเจรจาใดๆ กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

โรงงานพักการผลิต เสี่ยงปิดกิจการ
คาเมรอน จอห์นสัน จากบริษัทที่ปรึกษาไทดัลเวฟโซลูชั่นในเซี่ยงไฮ้ เผยว่า มีโรงงานหลายแห่งหยุดการผลิตส่วนใหญ่ และสั่งให้พนักงานกว่าครึ่งกลับบ้านไปกว่า 2-3 สัปดาห์ โดยโรงงานผลิตของเล่น อุปกรณ์กีฬา และสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้

แม้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยังไม่ได้ส่งผลกระทบชัดเจนในวงกว้าง แต่กำลังปรากฏให้เห็นในหลายเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกที่สำคัญของจีน  เช่น เมืองอี้อู และตงกวน และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะ ?ทวีความรุนแรงมากขึ้น"

จากการประมาณการของโกลด์แมนแซคส์ พบว่ามีแรงงานในจีนประมาณ 10 ล้านถึง 20 ล้านคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อปีที่แล้ว จำนวนแรงงานอย่างเป็นทางการในเขตเมืองต่างๆ ของจีนอยู่ที่ 473.45 ล้านคน

แอช มองกา จากไอเม็กซ์ซอร์สซิ่งเซอร์วิส บริษัทบริการจัดหาในกว่างโจว กล่าวว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษี 2 เท่าได้สร้างผลกระทบมากกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างมาก โดยชี้ว่าการขึ้นภาษีสินค้าอย่างกะทันหันเช่นนี้ อาจทำให้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงไม่กี่ล้านดอลลาร์ ไม่สามารถรับมือได้ และอาจนำไปสู่การปิดกิจการ

รัฐบาลจีนหนุนโฟกัส ?ตลาดในประเทศ?
จากปัญหาทางธุรกิจที่ถาโถม ทำให้ผู้ส่งออกชาวจีนต้องพลิกกลยุทธ์ใหม่หันมาโฟกัส ?ตลาดในประเทศ? ด้วยวิธีการขายแบบใหม่อย่างการถ่ายทอดสดเพื่อคว้ายอดขายจากตลาดออนไลน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง

หลี่ หยาน ผู้จัดการโรงงานของ Woodswool ผู้ผลิตชุดกีฬาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ตลาดออนไลน์   โดยใช้การไลฟ์สดเป็นช่องทางหลักในการขายสินค้า ซึ่งสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 690 ดอลลาร์ หรือราว 2.3 หมื่นบาท  ถือเป็นความพยายามในการกอบกู้รายได้หลังสูญเสียคำสั่งซื้อทั้งหมดจากสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ สินค้าของ Woodswool มากกว่าครึ่งถูกส่งไปยังสหรัฐ แต่ตอนนี้กำลังการผลิตบางส่วนจะต้องหยุดชะงักไปเป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือน  จนกว่าบริษัทจะสามารถสร้างตลาดใหม่ได้สำเร็จ

Woodswool เลือกใช้การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Baidu ที่สะดวก และประหยัด เพราะ Baidu เป็นทั้งแอปพลิเคชันเสิร์ชเอ็นจิ้น และมีตัวเลือกการไลฟ์สตรีมเสมือนจริง ทำให้ Woodswool ไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการจัดสตูดิโอหรือจ้างทีมงานเพิ่ม

Baidu เปิดเผยว่าได้ร่วมมือกับธุรกิจในจีนหลายร้อยแห่งเพื่อเปิดตัวช่องทางอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ หลังจากประกาศว่าจะให้เงินอุดหนุน และให้ธุรกิจถึง 1 ล้านแห่งใช้ AI ฟรี ซึ่งรวมถึง  "Huiboxing" มนุษย์เสมือน ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบดิจิทัล และใช้ AI เพื่อเลียนแบบการนำเสนอขายสินค้า รวมถึงการโต้ตอบกับลูกค้าโดยอัตโนมัติที่ Baidu ชี้ว่าสามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าการใช้พนักงานที่เป็นมนุษย์จริง

\'ส่งออกจีน\' วิกฤติหนัก ภาษีทรัมป์ชัตดาวน์โรงงาน แห่ย้ายฐานผลิตมา \'อาเซียน\'

บุกตลาดในประเทศก็ไม่ง่าย 
บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง JD.com ประกาศว่าจะสนับสนุนเงินทุนถึง 27,220 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดซื้อสินค้าจีนที่เดิมตั้งใจจะส่งออกไปยังต่างประเทศ และหาช่องทางจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ภายในประเทศจีน ส่วนบริษัทจัดส่งอาหารชื่อดังอย่าง Meituan ก็ประกาศเช่นกันว่าจะช่วยผู้ส่งออกในการกระจายสินค้าสู่ตลาดภายในประเทศ 

\'ส่งออกจีน\' วิกฤติหนัก ภาษีทรัมป์ชัตดาวน์โรงงาน แห่ย้ายฐานผลิตมา \'อาเซียน\'

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินสนับสนุนจำนวน 27,220 ล้านดอลลาร์  คิดเป็นเพียง 5% ของมูลค่าสินค้ารวมกว่า 524,660 ล้านดอลลาร์ ที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น สะท้อนความท้าทายในการเปลี่ยนตลาดส่งออกหลักที่มีขนาดใหญ่มาเป็นตลาดภายในประเทศ

ไมเคิล ฮาร์ท ประธานหอการค้าอเมริกันในจีนเผยว่า ธุรกิจบางแห่งแจ้งให้เราทราบว่าหากภาษีนำเข้าสูงกว่า 125%  ธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และยังสังเกตเห็นการแข่งขันระหว่างบริษัทจีนด้วยกันเองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ฮาร์ทยังชี้ให้เห็นว่า สินค้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในแถบชานเมืองของสหรัฐ อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในเมืองใหญ่ ทำให้ผู้ผลิตจีนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนสินค้าของตนให้เข้ากับรสนิยม และความต้องการของตลาดใหม่ในประเทศ

ผู้ผลิตหลายรายได้หันไปติดต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน เช่น Red Note และ Douyin เพื่อหวังให้ผู้บริโภคในประเทศช่วยสนับสนุนสินค้าของตน แต่แอชลีย์ ดูดาเร นอกจาก ChoZan บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดในจีนพบว่า ตอนนี้ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มรู้สึก "เบื่อหน่าย" หรือ "ไม่สนใจ" กับการรณรงค์ให้ช่วยซื้อสินค้าของผู้ส่งออกเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

ย้ายฐานผลิต-หาตลาดใหม่มา ?อาเซียน?
ในปัจจุบันมีบริษัทจีนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ที่คิดจะส่งสินค้าไปสหรัฐโดยอ้อมผ่านประเทศอื่นเพราะสหรัฐตรวจสอบการขนส่งสินค้าที่ผ่านแดนเข้มงวดขึ้น ทำให้บริษัทหลายแห่งกำลังย้ายฐานการผลิตไปประเทศแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ขณะเดียวกันบริษัทอื่นๆ ก็หันไปให้ความสำคัญกับลูกค้าในตลาดอื่นแทน เช่น ยุโรป และลาตินอเมริกา

นอกจากความพยายามในการปรับตัวเข้าสู่ตลาดในประเทศ และการหาตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ยังมีบริษัทจีนบางแห่งที่ได้วางรากฐานธุรกิจบนเส้นทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้พึ่งพาสหรัฐมาก่อนแล้ว

ไบรท์ ทอร์ดซโรห์ ซีอีโอของบริษัทโคทรี โลจิสติกส์มองว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนเป็นแรงผลักดันให้บริษัทหลายแห่งมองหาแหล่งจัดหาสินค้า และฐานการผลิตนอกสหรัฐ

หลิว ซู ผู้บริหารบริษัทอีคอมเมิร์ซหมิงหยูชู ทำธุรกิจขายผลิตภัณฑ์สำหรับห้องน้ำให้กับประเทศบราซิลที่เชื่อว่าการค้าในครั้งนี้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แม้ว่าจะเจอกับความท้าทายเรื่องค่าเงินที่ผันผวนและค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่สูงขึ้น

สถิติยังแสดงให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าจากจีนไปยังบราซิลเติบโตขึ้นถึง 2 เท่าในช่วงระหว่างปี 2561 ถึง 2567 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับการส่งออกของจีนไปยังประเทศกานาด้วย




อ้างอิง CNBC

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์