ผู้เขียน หัวข้อ: คนกรีดเผ่น-จ่อขายสวนนายทุน  (อ่าน 1764 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88231
    • ดูรายละเอียด
คนกรีดเผ่น-จ่อขายสวนนายทุน
« เมื่อ: เมษายน 25, 2014, 05:32:19 PM »
คนกรีดเผ่น-จ่อขายสวนนายทุน

ยางราคาตกพ่นพิษ ชาวสวนอ่วม คนรับจ้างกรีดยางเผ่น หนีขายลอตเตอรี่ ชี้ไม่คุ้มขายยางก้อนถ้วย กิโลฯละ 26 บาท ต่ำสุดรอบ 10  ปี เผยบางสวนอาจถึงขั้นต้องขายสวนทิ้งให้แก่นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อ ขณะที่งบจ่ายค่าปัจจัยการผลิตยางพาราค้างร่วมแสนรายส่อแห้ว "ยุคล" เผยขัดรัฐธรรมนูญ ลุ้นกกต.ชี้ขาด ขณะตลาดเอเฟท คึกสวนกระแสคนแห่เก็งกำไร ดันโวลุ่มกระฉูด หลังรัฐปล่อยข่าวเทสต๊อก 2.1 แสนตัน
    นายชนะวงศ์  สมมุติ ประธานกลุ่มขายยางบ้านโพนงาม จังหวัดเลย เปิดเผยกับ  "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ราคายางพารา ณ วันที่ 21 เมษายน 2557 ว่า ราคายางก้อนถ้วยที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อตามหมู่บ้านขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 26 บาท จากก่อนหน้านี้เคยตกต่ำสุดเพียงกิโลกรัมละ 30-31 บาท ทำให้คนรับจ้างกรีดยางในพื้นที่ไม่คุ้มรับจ้าง เวลานี้ส่วนใหญ่ได้หันไปทำอาชีพอื่น ที่นิยมมากสุดคือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) ส่งผลให้ชาวสวนต้องลงมือกรีดยางเอง บางรายอาจถึงขั้นต้องขายสวนทิ้งให้แก่นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อ เพราะไม่คุ้มที่จะดูแลบำรุงรักษา

    สอดคล้องกับนายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ราคายางขณะนี้น่าวิตกและกังวลมาก เนื่องจากราคายางพาราที่ชาวสวนขายได้นั้นใกล้เคียงกับราคาต้นทุนที่ กิโลกรัมละ 64.49 บาท และมีแนวโน้มขายขาดทุนคาดว่าจะขายขาดทุนลากยาว ดังนั้นในส่วนของสมาคมจึงได้พยายามเร่งรัดในส่วนค่าปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2.520 พันบาท กับทางกรมส่งเสริมการเกษตรและ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เร่งรัดให้จ่ายโดยเร็ว ส่วนราคายางก้อนถ้วยที่ชาวสวนขายได้ กิโลกรัมละ 26 บาทนั้นเป็นราคาต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี



ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบในปี 2557 ว่า จากที่รัฐบาลได้มีมาตรการระยะสั้นก่อนหน้านี้โดยจะให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเป็นค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ นั้นในเงื่อนไขตามมติ คณะรัฐมนตี (ครม.) ที่อนุมัติไว้ได้เปิดช่องไว้ว่าหากมีการสำรวจพื้นที่เปิดกรีดจริงและเอกสารถูกต้องนั้นสามารถจ่ายเพิ่มได้นั้น ซึ่งจากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจพบว่าจะต้องของบกลางเพิ่มกว่า 7 พันล้าน จ่ายชาวสวนร่วมแสนรายนั้น  เป็นพื้นที่ส่วนเกินที่ ครม.มีมติช่วยเหลืออีกรวม 2.44 ล้านไร่นั้นจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  และเข้าสู่ที่ประชุมครม.ใหม่  แต่ต้องยอมรับว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 วงเล็บ 3ห้ามรัฐบาลรักษาการ ทำงานหรือโครงการที่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องลุ้นว่าชาวสวนพื้นที่เกินนั้นจะต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)พิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่

    ด้านสถาบันวิจัยยาง รายงานราคายาง ณ วันที่ 21 เมษายน 2556  ตลาดกลางยางพาราสงขลาปรับตัวลดลงทั้งยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน แตะระดับ 62.03 บาทต่อกิโลกรัม และ 65.01 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ ปรับตัวลดลง 3.00 บาทต่อกิโลกรัม และ 2.18 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางลดลงด้วย ประกอบกับมีการประมาณการผลผลิตส่วนเกินปี 2557 อยู่ที่ 6.52 แสนตันสูงกว่าที่ประมาณการในเดือนธันวาคม 2556 ที่ 3.66 แสนตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม สต๊อกยางจีน ณ ตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ที่ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.70 แสนตัน (18 เม.ย.57) และการเริ่มเปิดกรีดในหลายพื้นที่ ต้นยางยังให้ผลผลิตไม่เต็มที่ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง

    ขณะที่ ดร.ไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บจก. แอโกรเวลท์ และนายกสมาคมนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ เอเฟท กล่าวถึง สถานการณ์การซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางพาราในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ เอเฟท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า หลังจากรัฐบาลปล่อยข่าวว่าจะมีการระบายยางในสต๊อก จำนวน 2.1 แสนตัน จึงทำให้มีนักเก็งกำไรมาซื้อขายยางพาราในตลาดเป็นจำนวนจำนวนมาก โดยเฉลี่ยกว่า 200-300 สัญญาต่อวัน จากปกติปริมาณซื้อขายยางในตลาดโดยเฉลี่ยต่อวัน 100 สัญญา ส่วนมูลค่าก็เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยวันละกว่า 100 ล้านบาท จากปกติมูลค่าต่อวันเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น  จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,942 วันที่ 24 - 26 เมษายน พ.ศ. 2557