ผู้เขียน หัวข้อ: ชี้ความต้องการยางพารา "เทียม" "เทรดเดอร์" ต้นตอลวงตลาด  (อ่าน 1344 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82396
    • ดูรายละเอียด
ชี้ความต้องการยางพารา "เทียม" "เทรดเดอร์" ต้นตอลวงตลาด


ภาวนิศร์ ชัววัลลี เจ้าหน้าที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สาขาภาคใต้ เสนอรายงานเรื่อง "อิทธิพลของเทรดเดอร์ (Trader) ต่อราคายางพารา" ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับราคายางตกต่ำในขณะนี้ โดยเฉพาะบทบาทของ "เทรดเดอร์" ดังนี้


หลายคนคงสังเกตเห็นแนวโน้ม การผลิตและการส่งออกยางพาราโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและตั้งคำถามว่าโลกมีความจำเป็นในการใช้ยางพารามากถึงขนาดนี้หรือ ?


คำตอบคือ ความต้องการใช้ยางพาราของโลกเพิ่มขึ้นจริง แต่ไม่ได้มีปริมาณมากเท่ากับขนาดการส่งออกยางพาราในปัจจุบัน เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราส่วนใหญ่ที่มาจากจีนนั้นมีความต้องการใช้ยางพาราที่ไม่แท้จริงรวมอยู่ด้วย


สาเหตุที่เรียกว่าความต้องการใช้ยางพาราที่ไม่แท้จริง เพราะ ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงความต้องการใช้ยางพาราเพื่อผลิตสินค้าในโรงงานดังเช่นในอดีตอีกต่อไป พ่อค้าคนกลางหรือเทรดเดอร์ต่างประเทศมองเห็นช่องว่างในการทำกำไรการค้ายางพาราจากวิธีการซื้อขายสินค้าระหว่างต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งนำมาสู่การสั่งซื้อยางพาราที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการใช้ยางพาราจริง


วิธีการซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศ เริ่มต้นด้วยการที่เทรดเดอร์ยางจากจีน ขอซื้อยางพาราจากไทย โดยเมื่อไทยตกลงว่าจะขายสินค้าให้เทรดเดอร์จีน จากนั้น เทรดเดอร์จีนจะขอเปิด Letter of Credit หรือ L/C กับธนาคารจีนเพื่อการซื้อขายยางพาราในรูปเงินดอลลาร์และทำสัญญาตกลงว่าจะชำระเงินค่ายางพาราแทนเทรดเดอร์จีน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจากเทรดเดอร์จีน เมื่อครบกำหนดสัญญา เช่น 3 เดือน


เมื่อธนาคารจีนชำระค่ายางพาราแทนเทรดเดอร์จีนเรียบร้อย ทางธนาคารไทยจะส่งใบประทวนสินค้าให้กับธนาคารจีน เพื่อเป็นหลักฐานการส่งยางพารามายังจีน ในขั้นตอนนี้เทรดเดอร์สามารถขอสำเนาใบประทวนสินค้าจากธนาคารจีน ซึ่งถูกต้องตามกฎหมายและสามารถนำไปทำธุรกรรมต่อได้ถึงแม้จะอยู่ระหว่างการขนส่งยางพารา


ในจุดนี้เองเป็นช่องว่างที่เทรดเดอร์สามารถทำกำไร จากสำเนาใบประทวนสินค้า ในขณะที่ยังไม่ต้องจ่ายเงินให้กับธนาคารจีน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เทรดเดอร์จีน จะนำสำเนา ใบประทวนสินค้าไปทำธุรกรรมใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ


1. การนำสำเนาใบประทวนสินค้าไป ค้ำประกันเพื่อขอกู้กับธนาคารอื่นของจีนในรูปเงินหยวนและนำเงินกู้ดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้กับบุคคลอื่น นอกระบบหรือการนำเงินไปลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอื่นๆ โดยเทรดเดอร์จีนจะได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนหรือการปล่อยหนี้นอกระบบและอัตราดอกเบี้ยจ่าย


นอกจากนี เมื่อครบกำหนดชำระเงินตาม L/C ซึ่งเป็นการชำระเงินในสกุลเงินดอลลาร์


หากเงินหยวนแข็งค่า เทรดเดอร์จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า เนื่องจากใช้เงินหยวนน้อยลงในการแลกเป็นเงินดอลลาร์ จำนวนเดียวกัน


2. การนำสำเนาใบประทวนสินค้าไปขายต่อให้เทรดเดอร์รายอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ในรายละเอียดของใบประทวนสินค้า จะมีระบุว่าสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ โดยเทรดเดอร์มักสร้างกำไร


การส่งออกยางพาราไทยไปจีนของแต่ละเดือน พบว่าในช่วงปลายปี 2556 การส่งออกยางพาราไทยไปจีนเพิ่มสูงมากเนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีการงดเก็บเงินสงเคราะห์ (CESS) ทำให้จีนเร่งซื้อยางพาราจากไทยเข้าประเทศ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าว มีปริมาณการนำเข้ายางพาราของจีนจำนวนมาก ที่ไม่ได้ถูกนำไปผลิตสินค้าในโรงงาน แต่ถูกนำไปเก็บไว้ในสต็อกยางพาราที่ชิงเต่าของจีน ประกอบกับเป็นช่วงที่เงินหยวนแข็งค่า


เทรดเดอร์สามารถทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกด้วย โดยปริมาณสต็อกยางพาราชิงเต่าประกอบด้วยยางพาราที่จะนำไปใช้ผลิตสินค้าในโรงงานโดยตรง และยางพาราที่มาเก็งกำไรก่อนนำไปขายให้กับโรงงานต่อไป โดยยางพาราในสต็อกที่เทรดเดอร์นำมาทำธุรกรรมเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้สต็อกยางพารามีมากเกินความต้องการใช้จริง และอยู่ในระดับสูงพอที่จะทำให้ราคายางพาราทั่วโลกลดลง


อย่างไรก็ดี สต็อกยางพาราชิงเต่าของจีนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคายางพาราในจีนลดลงต่ำกว่าราคายางพาราในต่างประเทศนั้น ทำให้ ผู้ใช้ยางพาราหลายรายในจีน หันมาซื้อยางพาราจากสต็อกในประเทศมากขึ้น และส่งผลให้ สต็อกยางพาราที่ชิงเต่าของจีนมีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคายางพาราต่อไป


ดังนั้น ธุรกรรมการซื้อขายยางพาราของเทรดเดอร์ สามารถกดดันราคายางพาราให้ลดลง จากการนำเข้ายางพาราเกินความต้องการใช้ยางพาราที่แท้จริง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณสต็อกยางพาราสูงเกินไป เพราะฉะนั้นหากผู้ผลิตยางพาราทุกประเทศทั่วโลกรับรู้ถึงปัจจัยเหล่านี้ และร่วมมือกันกำหนดระดับผลผลิตยางพาราของโลกที่สมดุลกับปริมาณความต้องการใช้ยางพาราที่แท้จริงแล้ว


นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดปริมาณผลผลิตส่วนเกิน ยังช่วยลดช่องว่างการทำธุรกรรมของเทรดเดอร์ได้อีกด้วย และที่สำคัญคือสามารถทำให้ราคายางพาราอยู่ในระดับที่เหมาะสม




เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ