ผู้เขียน หัวข้อ: สกย.ตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหายางพารา  (อ่าน 821 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82779
    • ดูรายละเอียด
สกย.ตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหายางพารา

นายประสิทธิ์  หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสถานการณ์ราคายางพาราที่มีแนวโน้มตกต่ำอย่างต่อ เนื่อง ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้รับนโยบาย พร้อมกำหนดภารกิจในการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยการกำหนดแผนการดำเนินงานของ สกย. ให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางดังกล่าว ซึ่งมี 4 โครงการพร้อมเดินหน้า ได้แก่ ควบคุมปริมาณการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับโครงการควบคุมปริมาณการผลิต ในแต่ละปีจะมีการโค่นสวนยางเก่าที่ให้ผลผลิตต่ำ สำหรับปีนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีประมาณ 400,000 ไร่ โดยจะส่งเสริมให้มีการปลูกแทนแบบผสมผสานด้วยการทำกิจกรรมทางการเกษตรควบคู่ กับการปลูกยาง เช่น พืชผักสวนครัว หรือพืชอื่น หรือการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ดังนั้น โครงการนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณผลผลิตยางในตลาดลงปีละ 101,600 ตัน หากเราดำเนินการช่วยกันควบคุมพื้นที่ปลูก ซึ่งภายในระยะเวลา 7 ปีนับจากนี้ การให้การสงเคราะห์ของ สกย.จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีความเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้ และในการควบคุมปริมาณผลผลิต สกย.ได้ตั้งเป้าในการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางเป็นพื้นที่พืชเศรษฐกิจอื่นปีละ 100,000 ไร่ เป็นระยะเวลา 7 ปี หวังจะช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้น

โครงการลดต้นทุนการผลิต เน้นการส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การปลูก จนกระทั่งการขายผลผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างใกล้ชิด ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้เหมาะสมด้วยการส่งเสริม ให้ปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินการประมาณ 60,000 ไร่ และส่งเสริมเกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การผลิตวัสดุปลูกที่มีคุณภาพให้กับผู้รับการสงเคราะห์ การให้ความรู้และผลักดันให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมถึงการส่งเสริมรวมกลุ่มให้เป็นสถาบันเกษตรกรเพื่อผสมปุ๋ยใช้เอง นอกจากนี้ สกย.ยังเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งตลาดน้ำยางสดระดับท้องถิ่น (ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้) การจัดตั้งตลาดประมูลยาง และตลาดยางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ภายใต้แนวคิด การมีส่วนร่วมของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการสวนยางและผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และต้นทุนทางการตลาด โดย สกย.จะมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือปัจจัยการผลิต และติดตามให้คำแนะนำ

โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่ สกย. ส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายในครั้งนี้ ทาง สกย.จะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวน ยาง พร้อมทั้ง สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตควบคู่กับการสร้างรายได้เพิ่ม ได้แก่ การจัดอบรมเพื่อพัฒนาเกษตรกรและผู้นำทุกระดับเพื่อให้สามารถบริหารจัดการสวน ยาง และเพิ่มมูลค่าให้กับการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของ สกย. ทั่วประเทศ ทั้งโรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสำหรับเกษตรกร จำนวน  4  แห่ง และศูนย์เรียนรู้ยางพาราอีกจำนวน 4 แห่ง

และที่สำคัญ โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สกย.จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในสวนยางของตนเองให้ เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการนำไปสร้างรายได้เพิ่ม เช่น การปลูกพืชแซม พืชคลุม โดย สกย. จะมีการให้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือผู้รับการสงเคราะห์ด้วย และที่ผ่านมา สกย. ได้ดำเนินการผลักดันและส่งเสริมวิถีการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียงในหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จำนวน 51 หมู่บ้าน สำหรับปีนี้เป็นต้นไป จะขยายความรู้และส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวในหมู่บ้านชาวสวนยางพัฒนา อีกจำนวน  10 หมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนยาง สกย. ซึ่งจะช่วยสร้างพลัง สร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเกษตรกร ตลอดจนสังคมชาวสวนยางได้เป็นอย่างดี

ทั้ง 4 โครงการหลัก เป็นแผนดำเนินการเชิงรุกของ สกย. ที่ได้กำหนดให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เดินหน้าภารกิจตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ของ สกย. เพื่อช่วยเร่งรัด กำกับ และติดตามการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบอย่างใกล้ชิด และจะเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและ ภายนอก




ที่มา : ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ (17/10/2557)