วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยทำให้ภาคใต้มีฝนกระจายร้อยละ 60 ของพื้นที่ และตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ภูเก็ต และกระบี่ ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- บริษัท Michelin ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ รายงานตัวเลขรายได้จากการขายในไตรมาส 3 ลดลงร้อยละ 4.6 และรายได้ 9 เดือน นับถึงวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 4.7 ถึงแม้ว่าปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าจะเป็นเครื่องมือทำให้การจัดการแก้ไขปัญหายางพาราในส่วนของการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นเอกภาพจากเดิมมี 3 หน่วยงานในการแก้ปัญหา ได้แก่ สกย. อสย. และถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ให้รวมเป็นหน่วยงานเดียว เฉพาะในการแก้ไขปัญาต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทำให้อุดช่องโหว่ของการทำงานที่ผ่านมา
3.เศรษฐกิจโลก
-สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีของยูโรโซนเพิ่มขึ้นแตะร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม จากระดับร้อยละ 0.3 ในเดือนกันยายน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนีลดลงร้อยละ 3.2 ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งลดลงหนักสุดในรอบหลายปี และมากกว่าที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Boj) มีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยขยายเป้าหมายในการเพิ่มฐานเงินสู่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 30 ล้านล้านเยนต่อปี มีวัตถุประสงค์เพื่อหนุนเศรษฐกิจของประเทศ
- สถาบันสถิติแห่งชาติของจีน เผยกิจกรรมการผลิตของจีนปรับตัวลงเล็กน้อยในเดือนตุลาคม แต่โดยภาพรวมแล้วยังถืออยู่ในภาวะขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดกิจกรรมในจีน ประจำเดือนตุลาคม ปรับตัวลดลง 0.3 จากเดือนกันยายน มาอยู่ที่ระดับ 50.8
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงท้ายเดือนตุลาคม จากรอยเตอร์ และม.มิชิแกน ขยับขึ้นแตะ 86.9 จากระดับเดือนกันยายน ที่ 84.6 เนื่องจากการจ้างงานและราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของชาวอเมริกัน
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก เดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นแตะระดับ 66.2 จากระดับเดือนกันยายน ที่ 60.5 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดสั่งซื้อสินค้าล๊อตใหม่ที่ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การบริโภคส่วนบุคคลปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 ในเดือนกันยายน หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเพิ่มความไม่มั่นใจต่อศักยภาพของเศรษฐกิจในการขยายตัวที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงซัมเมอร์
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.63 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.13 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐและเงินเยนอยู่ที่ 112.76 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 3.35 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือน ธันวาคม ปิดตลาดที่ 80.54 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.58 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังผลผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 85.86 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.38 ดอลล่าร์สหรัฐ
6. การเก็งกำไร
- ตลาด TOCOM หยุดทำการเนื่องในวันวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 170.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า อัตราว่างงานของยูโรโซน เดือนกันยายน ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม แต่ลดลงจากระดับร้อยละ 12.0 ในเดือนกันยายน 2556
8. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ
- ราคายางน่าจะทรง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมาก เพราะตราบใดที่ปริมาณผลผลิตยังมีน้อย ก็จะยังมีการซื้อเกินราคาและแข่งขันกันสูง ถึงแม้ว่าซื้อแล้วก็ไม่รู้จะขายใคร เพราะผู้ถามซื้อจะซื้อตามราคา Sicom ที่ กิโลกรัมละ 170.00 เซนต์สหรัฐฯ ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังรอดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะเข้ามาซื้อในรูปแบบใด
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินเยนและเงินบาท ประกอบกับอุทานยางออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศยังมีความต้องการซื้อ รวมทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและยุโรป ขณะที่ราคาชี้นำตลาดโตเกียวปิดทำการ เนื่องในวันวัฒนธรรมแห่งชาติ ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศระมัดระวังในการซื้อขายและติดตามการเข้ามาซื้อยางของรัฐบาลโดยองค์การสวนยาง ว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา