ผู้เขียน หัวข้อ: 'อำนวย'โวยพ่อค้าหัก'บิ๊กป้อม'  (อ่าน 930 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83024
    • ดูรายละเอียด
'อำนวย'โวยพ่อค้าหัก'บิ๊กป้อม'
« เมื่อ: มกราคม 30, 2015, 01:53:04 PM »
'อำนวย'โวยพ่อค้าหัก'บิ๊กป้อม'


วันพุธที่ 28 มกราคม 2015 เวลา 16:02 น.    กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ    ข่าวหน้า1   



"อำนวย" อัดบิ๊กค้ายางไม่จริงใจ ช่วยแก้ปัญหา จับตาเบี้ยวคำมั่น "ประวิตร" ดันราคายาง 80 บาท/กก.ใน 1 เดือน ปฏิเสธลั่นข้อเสนอพร้อมซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรเพิ่มทันที 10 บาท/กก.แต่มีข้อแม้ "บัฟเฟอร์ ฟันด์" ต้องซื้อยางแผ่นรมควันจากเอกชนในราคา 60 บาท ยันรัฐไม่ใช่ยี่ปั๊ว ขณะที่นายกฯยางพาราไทยเผยผลประชุมสมาชิกล่าสุดไร้มาตรการช่วย อ้างเหตุสวนทางตลาดยังขาลง หวั่นขาดทุน


    กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช.ร่วมกับตัวแทนของโรงงานแปรรูปยางพารารายใหญ่ 5 บริษัทจากสมาคมยางพาราไทย ผู้บริหารของสมาคมผลิตถุงมือยางไทย และผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสินเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา   


    ภายหลังการหารือพล.อ.ประวิตรได้แถลงข่าวระบุว่า นับจากนี้ไป(21 ม.ค.)คาดว่าภายใน 1 เดือนราคายางจะไปอยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม ความมั่นใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังได้รับคำยืนยันจากภาคเอกชนโดยตรง ซึ่งต่อมาแกนนำชาวสวนยางได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องตลกมาก และเป็นไปไม่ได้


    นายหลักชัย  กิตติพล นายกกิตติศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน)หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมกับพล.อ.ประวิตร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงที่มาที่ไปของราคายางที่ 80 บาท/กิโลกรัมว่า ในที่ประชุมวันนั้นทางรัฐบาลได้รับปากว่าพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางในการสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อช่วยผลักดันราคายางให้เกษตรกรได้ในราคา 80 บาท/กิโลกรัม ส่วนในรายละเอียดให้ทางภาคเอกชนไปหารือกันว่าจะทำอย่างไร และให้เร่งนำเสนอแนวทาง


    "ท่านพล.ประวิตรให้โจทย์มาว่าพวกคุณจะไปทำอย่างไรก็ได้ และให้บอกมาผมจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ขออย่างเดียวให้เกษตรกรขายยางได้ที่ 80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งก็มีผู้บริหารของบางบริษัทรับปากว่าสามารถทำได้  จึงเป็นที่มาของการแถลงข่าว ที่พล.อ.ประวิตรได้แสดงความมั่นใจและประกาศคาดภายใน 1 เดือน ราคายางจะไปอยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม"


    อย่างไรก็ดีถัดมาในวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา สมาคมยางพาราไทยซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ค้าและส่งออกยางพารากว่า 50 รายได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารประจำเดือนมกราคม 2558 โดยวาระการประชุมที่สำคัญหัวข้อหนึ่งคือ การหารือถึงแนวทาง/มาตรการของผู้ประกอบการในการช่วยรัฐบาลผลักดันราคายางให้เกษตรกรได้รับที่ 80 บาท/กิโลกรัมตามที่มีสมาชิกได้รับปากไว้กับพล.อ.ประวิตร


    นายไชยยศ  สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยว่าการประชุม ยังไร้ข้อสรุปถึงแนวทาง/มาตรการที่ผู้ส่งออกจะช่วยดันราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้นได้ โดยปัจจุบันผู้ค้าส่วนใหญ่ก็ซื้อยางตามกลไกตลาด โดยไม่ซื้อชี้นำราคาในตลาดกลางแข่งกับกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ ฟันด์)ของรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้ราคายางในต่างประเทศยังเป็นช่วงขาลง การซื้อชี้นำ หรือซื้อสูงกว่าราคาตลาดจะเจ็บตัว และหลายบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องรับผิดชอบ และตอบคำถามผู้ถือหุ้นได้หากประสบภาวะขาดทุน


    "ที่ประชุมไม่มีความเห็น ยอมรับว่ายังนึกไม่ออกว่าจะช่วยดันราคายางอย่างไร จึงยังสรุปอะไรไม่ได้ ปัจจุบันยางที่เราซื้อมาก็ซื้อจากตลาดท้องถิ่นในปริมาณ และราคาที่เราซื้อได้ และส่วนหนึ่งก็มีรายได้จากการรับจ้างนำยางที่องค์การสวนยาง หรือ อ.ส.ย.ประมูลซื้อมาจากตลาดกลางทั่วประเทศ โดยนำยางแผ่นดิบไปอบรมควัน อัดเป็นแผ่นก่อน แล้วบรรจุหีบห่อ ขณะที่สต๊อกยางแผ่นรมควันของผู้ประกอบการแต่ละรายขณะนี้ก็ลดลงมาก จาก อ.ส.ย.ไปประมูลซื้อในตลาดกลาง ที่เราซื้อแข่งไม่ไหว ประกอบกับยางในตลาดโลกเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หลายประเทศก็ผลิตยาง เราทำธุรกิจจะไปฝืนตลาด ซื้อราคาสูง ไปขายถูกก็คงไม่ได้"


    ขณะที่นายอำนวย  ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลยางพาราของประเทศกล่าวว่า จากที่ผู้ค้ายางพารารายใหญ่ได้รับปากจะช่วยดันราคายาง 80 บาท/กิโลกรัม แต่ภายหลังที่ประชุมของสมาคมยางพาราไทยยังไร้ข้อสรุปมาตรการถือเป็นการรับปากแล้วเบี้ยว ขณะที่เวลานี้กองทุนมูลภัณฑ์กันชนของรัฐบาลก็ซื้อยางชี้นำตลาดอยู่รายเดียว ส่วนเอกชนแทบไม่ซื้อเลย  ทั้งที่สัดส่วนของผลผลิตยางในประเทศส่งออกโดยเอกชนถึง 86% และใช้ในประเทศเพียง 14% ดังนั้นจึงเห็นว่าภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการผลักดันราคายางของประเทศด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว ต้องจริงใจในการช่วยแก้ไขปัญหาให้มากกว่านี้


    อย่างไรก็ดีทางกองทุนฯยังคงเดินหน้าซื้อยางในตลาดกลาง รวมถึงเร่งขยายจุดรับซื้อยางให้มากขึ้น เพื่อยกระดับราคายางทั้งระบบให้สูงขึ้น แต่ยอมรับว่ายังสามารถทำได้ในกรอบจำกัด เพราะการใช้เงินต้องมีเหตุมีผล และคุ้มค่า ทำเท่าที่สามารถทำได้โดยมีเป้าหมายราคายางที่เกษตรกรได้รับไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กิโลกรัม และสิ้นสุดปิดกรีดยางในภาคใต้จากยางผลัดใบในเดือนมีนาคมนี้(ภาคเหนือและอีสานส่วนใหญ่ปิดกรีดแล้ว) คาดหวังจะดันราคายางให้ได้ที่ 65 บาท/กิโลกรัม(ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดกลาง)


    ส่วนกรณีที่ผู้ค้า(ผู้ส่งออกยางรายใหญ่) บางรายเสนอดันราคายางแผ่นดิบที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นทันทีอีก 10 บาท/กิโลกรัม จากปัจจุบันราคายางแผ่นดิบในตลาดท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 45 บาท โดยผู้ค้าจะรับซื้อเพิ่มเป็น 55 บาท/กิโลกรัม แต่มีเงื่อนไขเมื่อผู้ค้านำยางแผ่นดิบไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 มีต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 บาทรวมต้นทุนสินค้า 60 บาท/กิโลกรัม ขอให้ทางกองทุนมูลภัณฑ์กันชนของรัฐบาลรับซื้อยางจากผู้ค้าในราคาดังกล่าว(60บาท/กก.) โดยยกข้อดีว่า นอกจากช่วยดันราคายางในประเทศได้ทันทีอีก 10 บาท/กิโลกรัมแล้ว ยังช่วยทางกองทุนฯประหยัดเงินซื้อยางได้อีก 3 บาท/กิโลกรัม(จากปัจจุบันราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่กองทุนฯประมูลซื้อชี้นำในตลาดกลางเฉลี่ยที่ 63 บาท/กิโลกรัม)


    ในเรื่องนี้นายอำนวยกล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขอปฏิเสธ ที่จะทำตามข้อเสนอดังกล่าว เพราะรัฐบาลไม่ใช่ยี่ปั๊วรับซื้อยางจากพ่อค้า แต่จะใช้แนวทางรับซื้อผ่านตลาดกลาง และซื้อมา-ขายไป และคงสต๊อกไว้บางส่วนเพื่อไม่ให้กระทบตลาด ซึ่งขณะนี้ทางกองทุนฯได้ซื้อยางแล้ว 5-6 หมื่นตัน ใช้เงินไปแล้วประมาณ 3 พันล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,022  วันที่  29 - 31  มกราคม  พ.ศ. 2558