ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 967 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88289
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  19  มีนาคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย

วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงเกิดขึ้นได้บางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก


2. การใช้ยาง


- บริษัทเจเนอรัลมอเตอร์ (GM) เปิดเผยว่า บริษัทจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกลางปีนี้ หลังเผชิญกับยอดจำหน่ายตกต่ำ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในรัสเซียทรุดตัวลงถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา หลังชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้าแทรกแซงในยูเครน ทั้งนี้สมาคมธุรกิจยุโรปเปิดเผยว่าเดือนกุมภาพันธ์ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในรัสเซียลดลงร้อยละ 38.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


3. เศรษฐกิจโลก


- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.3 - 2.7 จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนธันวาคมที่ร้อยละ 2.6 - 3.0


- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยใกล้ร้อยละ 0 ต่อปี โดยเปิดโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงกลางปี และได้ยกเลิกการใช้คำว่า ?อดทน? ในการพิจารณากำหนดเวลาสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างไรก็ดีเฟดระบุว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อเฟดมีความเชื่อมั่นว่าภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวขึ้น


- องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ โดย OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ในปี 2558 และขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2559 จากที่คาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 4.1 ในปี 2558 และ 2559 พร้อมนี้ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2558 และ 2559 เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์โลก โดย OECD ระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในการคาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ส่วนปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.0


- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานขั้นต้นว่าญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 4.246 แสนล้านเยนในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 32 นับเป็นระยะเวลาขาดดุลต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลในเดือนมกราคม 2522 โดยการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 3.6


- ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเป็นไปด้วยดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ECB. สะท้อนว่าประธาน ECB. มีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการปล่อยกู้ที่สูงขึ้น


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.76 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.14 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 119.97 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.34 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 44.66 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 55.91 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่น้ำมันเบนซินลดลง ส่วนน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 9.6 ล้านบาร์เรล สู่ 458.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 80 ปี จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 4.1 ล้านบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 218.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.7 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 212.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.5 เยนต่อกิโลกรัม


- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 172.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- สำนักงานสถิติเกาหลีใต้เปิดเผยว่า อัตราว่างงานเกาหลีใต้เดือนกุมภาพันธ์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ท่ามกลางการสร้างงานที่ชะลอตัว โดยรายงานระบุว่าอัตราว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่อัตราว่างงานอยู่ร้อยละ 4.9


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เพราะผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย และผู้ประกอบการยังมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบและให้คนงานมีงานทำ รวมทั้งเริ่มมีการขายออกได้บ้าง โดยผู้ซื้อเริ่มมีการถามซื้อก่อนที่ราคาจะสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าวัตถุดิบน้อยลง


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมัน ประกอบกับนักลงทุนมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้สู่ระดับร้อยละ 4.0 จากเดิมที่ร้อยละ 3.9 รวมถึงการขานรับข่าวธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่ายังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในประเทศยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับแผนกระตุ้นการใช้ยางในประเทศและการซื้อยางระหว่างไทย - จีน ซึ่งอาจส่งผลต่อราคายางในระยะต่อไป






ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา