ผู้เขียน หัวข้อ: ลุยแก้ยางทั้งระบบ เตรียมพร้อมเปิดกรีดใหม่ วัดฝีมือ 'อำนวย' อยู่หรือไป  (อ่าน 770 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82407
    • ดูรายละเอียด
ลุยแก้ยางทั้งระบบ เตรียมพร้อมเปิดกรีดใหม่ วัดฝีมือ 'อำนวย' อยู่หรือไป


วันอังคารที่ 31 มีนาคม 2015 เวลา 09:00 น.



อำนวย ปะติเส  จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลทำให้ "ยางพารา" พืชเศรษฐกิจไทยที่มีการส่งออกและสร้างรายได้เข้าประเทศปีละไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งในรูปวัตถุดิบ อาทิ ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางสด รวมถึงไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป ได้ประสบปัญหาราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 1.5 ล้านครัวเรือนได้รับผลกระทบ ขณะที่สถานการณ์ทิศทางราคายางทั้งในและต่างประเทศ ณ เวลานี้ยังน่าห่วง "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้สัมภาษณ์ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลยางพาราทั้งระบบของประเทศ ถึงการแก้ไขปัญหา และความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูการกรีดยางใหม่ที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม
- 16 มาตรการยังอืด


นายอำนวยกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนายางทั้งระบบรวม 16 มาตรการซึ่งอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการประกอบด้วย 1.โครงการบริหารจัดการสต๊อกยางพาราของรัฐ 2.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5 พันล้านบาท 4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
5.โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 6.โครงการลดต้นทุนการผลิต 7.โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 8.โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 9.โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 10.โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออกยางพารา 11.โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ/โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 12.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง 13.โครงการชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 14.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม วงสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท และ 16.โครงการสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
"16 มาตรการนี้ ที่ผ่านมาบางโครงการก็เดินหน้าไปมาก แต่บางโครงการก็ยังไม่เดินเลย ดังนั้นในฤดูการผลิตยางที่จะเปิดกรีดในรอบใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้จะต้องขับเคลื่อนทุกโครงการให้ได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง"
-สต๊อกเก่าคาดขาดทุนหมื่นล.
ในส่วนของสต๊อกยางพารา 2.1 แสนตันที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคายางในประเทศตกต่ำ ที่รัฐบาลชุดก่อนได้มีโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางโดยใช้เงินซื้อแทรกแซงราคาจากเกษตรกรรวมค่าบริหารจัดการ 2.2 หมื่นล้านบาท (โดยองค์การสวนยาง หรือ อ.ส.ย.ได้รับซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรราคาประกันที่กิโลกรัมละ 100 บาท และยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 104 บาท)  ซึ่งยางจำนวนดังกล่าวทาง อ.ส.ย.ได้ลงนามซื้อขายกับบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์  อินดัสทรีกรุ๊ป จำกัด จากจีนไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 และอยู่ระหว่างการส่งมอบให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน
"ทั้งนี้หากประเมินผลการปิดบัญชีโครงการในเบื้องต้น โดยคำนวณตามหลักบัญชีทางคณิตศาสตร์โดยประเมินจากราคาซื้อที่ซื้อมากับราคาที่ขายไปรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง โครงการ จะขาดทุนระหว่าง 8 พัน-1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการส่งมอบสินค้าแล้วเสร็จและได้เงินแล้วจะนำส่งคืนให้กระทรวงการคลังต่อไป ขณะเดียวกันปัจจุบัน อ.ส.ย.ยังมีสัญญาซื้อขายยางใหม่กับไชน่า ไห่หนาน อีก 2 แสนตันโดยให้ราคาในส่วนของยางแผ่นรมควันที่ 63 บาท/กิโลกรัม กำหนดส่งมอบเดือนละ 1-2 หมื่นตัน โดยให้ส่งมอบ 2 หมื่นตันแรกก่อน เริ่มส่งตั้งแต่หลังตรุษจีนที่ผ่านมา กำหนดส่งมอบให้แล้วเสร็จใน 12 เดือน"
นอกจากนี้ทาง อ.ส.ย.ยังอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดเพื่อซื้อขายยางแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)กับจีน ผ่านทางบริษัทซิโนเคมฯ (Sinochem) อีก 2 แสนตันแลกการจัดซื้อหัวรถจักรจากจีน ราคาขายจะใช้ราคาตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ 90% และตลาดโตคอม 10% โดยนำราคาทั้ง 2 ตลาดมาหารถัวเฉลี่ย แล้วบวกด้วยราคาพิเศษจากรัฐบาลจีน โดยทั้ง 2 สัญญาใหม่รวมเป็น 4 แสนตันที่ไทยต้องส่งมอบให้กับรัฐบาลจีนนี้ คิดเป็น สัดส่วน 5% ของผลผลิตยางทั้งประเทศ 4  ล้านตัน ขณะเดียวกันรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามเปิดตลาดใหม่ทั้งตลาดอินเดีย และฝรั่งเศส เพื่อซื้อขายยางในรูปแบบจีทูจี
-ปรับแผนราคารับซื้อใหม่
ด้านโครงสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง(บัฟเฟอร์ฟันด์) ที่ให้ อ.ส.ย. เข้าซื้อยางในราคาชี้นำราคาตลาด วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ความคืบหน้าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ถึง วันที่ 6 มีนาคม 2558 (ที่ปิดโครงการแล้วจากยางผลัดใบและเกษตรกรปิดกรีดยาง) มีปริมาณยางรับซื้อจำนวน  1.2-1.3 แสนตัน ซึ่งมีการบริหารสต๊อกยางของโครงการในลักษณะที่เป็น Moving Stock  ซื้อมา-ขายไป ไม่เก็บไว้นาน สำหรับแผนบัฟเฟอร์ฟันด์ รอบ 2 เริ่มฤดูการเปิดกรีดยางใหม่ในเดือนพฤษภาคมคมนี้ จะดึงตลาดเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)ที่มีอยู่ 108 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม เพื่อตัดปัญหายี่ปั๊ว ซาปั๊วกดราคารับซื้อยางจากเกษตรกร และจะเปลี่ยนรูปแบบจากเดิม ที่จะกำหนดราคากลางในการซื้อยางจากใช้ราคาของตลาดกลาง 6 แห่งของสถาบันวิจัยยาง บวก 1 บาทต่อกิโลกรัม เป็นกำหนดตามราคาเอฟโอบีบวกอีกกิโลกรัมละ 1 บาท  เชื่อว่าจะสามารถดึงราคาให้ปรับเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด หากเป็นไปได้จะทำใบคำสั่งซื้อ ที่รับรองโดย อ.ส.ย. ให้เกษตรกร แล้วส่งเงินถึงบัญชีเกษตรกรโดยตรง
"เพื่อรองรับฤดูการเปิดกรีดยางใหม่ ได้ขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด 69 จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยาง ให้จัดทำข้อมูลยางพาราอย่างเป็นระบบ ทั้งพื้นที่ ผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ผู้รับซื้อยางพารา จำนวนโรงงานในจังหวัด โดยให้รายงานมายังกระทรวงเกษตรฯภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน หากพบความผิดปกติ ซัพพลายเทียมพุ่ง สูงกว่าข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะให้จัดทำใหม่"
-เดิมพันตำแหน่งอยู่หรือไป
ทั้งนี้ในวันที่ 2 เมษายน 2558  จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ(เวิร์กช็อป)ใหม่ ในงานวันพระยารัษฎา บิดายางพาราไทย และวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2558 หัวข้อ "ฝ่าวิกฤติยางพารา พัฒนาอย่างยั่งยืน" ที่จังหวัดตรัง  จากนโยบายของรัฐบาลตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ยังมีปัญหาอุปสรรค จะได้หารือกันถึงข้อดี ข้อเสียอย่างไร เพื่อช่วยกันหาทางออกและข้อเสนอแนะสำหรับปรับปรุงแนวทางการพัฒนายางพาราของประเทศให้นำไปสู่ความยั่งยืน เป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลต้องการนำไปใช้สำหรับวางนโยบายพัฒนายางพาราทั้งระบบของประเทศใน ปี 2558/2559 แล้วจะทำเป็นฐานข้อมูลนำมาประมวลอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายนนี้ ที่ สศก. หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
"จากนี้มาตรการทั้งหมดจะเน้นนำ เงินให้ถึงมือเกษตรกรมากที่สุด โดยแผนงาน/นโยบายที่มีเดิมและที่ปรับปรุงใหม่จะเป็นตัวกำหนดชี้ชะตาการทำงานของผมด้วย"


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,039  วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน  พ.ศ. 2558