ผู้เขียน หัวข้อ: อุปสรรคและโอกาสการค้าการลงทุนภาคใต้  (อ่าน 754 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82776
    • ดูรายละเอียด
อุปสรรคและโอกาสการค้าการลงทุนภาคใต้

วันอาทิตย์ที่ 03 พฤษภาคม 2015 เวลา 09:00 น.   รศ.ชโยดม สรรพศรี   คอลัมนิสต์ผู้ทรงคุณวุฒิ   - รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้เดินทางร่วมกับคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่น 57 เพื่อศึกษาและดูงานในการวางยุทธศาสตร์ชาติที่มีการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ทีมงาน ในส่วนของทีมงานเศรษฐกิจนั้นมีโอกาสได้รับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในหลายจังหวัด ประกอบไปด้วย ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ต และสงขลา อีกทั้งการเดินทางนั้นใช้รถบัสโดยตลอด จึงได้มีโอกาสเห็นภูมิประเทศอย่างใกล้ชิด


    ภาพรวมของโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้มีลักษณะเฉพาะตัวหากแยกภาคการผลิตเป็น การเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการแล้ว สัดส่วนรายได้จะแบ่งเป็นร้อยละ 30.5 16.4 และ53.1 เปรียบเทียบกับสัดส่วนรายได้ของประเทศเป็นร้อยละ 11.1 32.8 และ56.1 ตามลำดับ กล่าวได้ว่าภาคใต้มีการบริการเป็นรายได้หลักซึ่งมาจากรายได้การท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และการให้บริการขนส่งทางเรือ



    การเกษตรนั้นมีความสำคัญรองลงมาจากภาคบริการ และมีความสำคัญมากเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้การเกษตรของประเทศการเกษตรในภาคใต้นั้นพึ่งพาสินค้าเพียงไม่กี่รายการ ยางพาราที่มีผลผลิตร้อยละ 60 ของประเทศ และน้ำมันปาล์มที่มีผลผลิตร้อยละ 89 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีผลไม้ และการประมง การที่พึ่งพิงสินค้าการเกษตรเพียงไม่กี่รายการทำให้เกิดความเสี่ยงต่อรายได้ของเกษตรกรเมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเช่นปัจจุบัน  ยางพาราเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ถูกส่งออกแต่ความต้องการซื้อยางในตลาดโลกลดลง ราคาจึงตกต่ำและขาดทุน (ราคายางแผ่นอยู่ที่ 50บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนตามที่ผู้ประกอบการให้ข้อมูลอยู่ที่ 56 บาทต่อกิโลกรัม) น้ำมันปาล์มเป็นอีกพืชหนึ่งที่ราคาตกต่ำอีกทั้งเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันที่หีบได้ก็ต่ำเช่นกันเพียง 13% (ควรจะทำได้ 18%) ด้วยเหตุที่มีการเก็บปาล์มที่ยังไม่สุกเพียงพอ และสายพันธุ์ของปาล์มที่ปลูกต้องได้รับการปรับปรุง ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น อาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง หรือผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น



    การประมงที่ทำท่าน่าจะไปด้วยดี กลับมีปัญหาที่ท้าทายใหม่ คือ การที่สหภาพยุโรปแจกใบเหลืองให้กับไทย ตามมาตรการที่เรียกว่า Illegal Unreported and Unregulated (IUU) Measureวัตถุประสงค์ของ IUU คือ การอนุรักษ์จำนวนปลาให้สามารถใช้บริโภคได้อย่างยั่งยืน การรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ การป้องกันการบิดเบือนของราคา และการดูแลชุมชนชาวประมงชายฝั่งโดย Illegal หมายถึงการที่เรือประมงไม่ขึ้นทะเบียน และไม่มีใบอนุญาตในการทำประมง Unreported หมายถึง การจับปลาที่ไม่มีรายงานผลการจับสัตว์น้ำ ไม่มีการบันทึกในสมุดบันทึกในการทำประมง Unregulated คือการไม่ควบคุมการทำการประมง ที่ต้องมีเรือตรวจตราการประมง เรือตรวจจับการแจ้งเรือเข้าออก  และเรือประมงต้องมีการติดตั้งเครื่องมือVMS ให้สามารถติดตามได้ (Vessel Monitoring System)IUU มีมาตั้งแต่ 2553 จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และ สหภาพยุโรปได้ทั้งแจ้งและเฝ้าติดตามมาโดยตลอด จนกระทั่งแจกใบเหลืองแก่ไทย โดยให้เวลาการปรับปรุงทั้งหมดอีก 6 เดือน หากไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานนานาชาติของสหภาพยุโรปดังกล่าวสินค้าประมงจะถูกแบน ในอดีตมีมูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าประมงที่ไทยส่งออกทั้งหมด เรื่องของการประมงคงต้องรีบเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว



    รายได้หลักของภาคใต้ที่ยังไปได้ดีคือการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่นโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งและการเดินทาง ปัญหาหลักในปัจจุบันคือการดูแลไม่ให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม การดูแลการขจัดขยะ และการมีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ ภาคใต้มีชายหาดที่มีเสน่ห์มากมายหลายแหล่ง และที่น่าสนใจคือการให้บริการจอดเรือยอชต์ ที่มีท่าเรือยอชต์อยู่หลายท่า ทั้งที่เป็นของรัฐ และเอกชน ข้อได้เปรียบของการมีท่าจอดเรือยอชต์เกิดมาจากมหาเศรษฐีต่างชาติแทนที่จะจอดเรือไว้ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นำเรือมาจอดเมืองไทยที่มีค่าบริการฝากเก็บถูกกว่า อีกทั้งมีสถานที่ท้องเที่ยวทางทะเลที่งดงาม การเดินทางโดยการบินเข้ามาที่ภูเก็ตสามารถบินตรงมาจากยุโรปได้เลย นักท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เป็นทั้งเจ้าของเรือเอง เจ้าของเรือที่เป็นนักธุรกิจปล่อยเช่าหรือไว้รับรองลูกค้า คนกลุ่มนี้สามารถใช้จ่ายได้ในครั้งละมากๆ พักโรงแรมราคาแพง ทำให้เกิดการจ้างงานมากมาย ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการยกระดับท่าจอดเป็นท่าจอดเรือซูเปอร์ยอชต์ที่มีขนาดยาวกว่า 100 เมตร ราคาลำละหลายพันล้านบาท จะทำให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางเรือยอชต์เพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต



    สำหรับประเด็นอื่นๆที่ได้เรียนรู้ในการเดินทางครั้งนี้มีอีกมากมาย ที่สามารถยกระดับรายได้เศรษฐกิจภาคใต้ รวมถึงปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราที่ครบวงจร การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม การใช้ประโยชน์จากท่าเรือที่มีในปัจจุบัน และที่สำคัญคือการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,049  วันที่   3 -  6  พฤษภาคม  พ.ศ. 2558
#ThanOnline #ThanTalk #Thansettakij #ฐานเศรษฐกิจ