ผู้เขียน หัวข้อ: "พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์" นักวิทยาศาสตร์ยางพารา อยู่กับงานวิจัยที่ถูกทำให้"เป็นจริง"  (อ่าน 872 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82396
    • ดูรายละเอียด
"พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์" นักวิทยาศาสตร์ยางพารา อยู่กับงานวิจัยที่ถูกทำให้"เป็นจริง"


updated: 11 มิ.ย. 2558 เวลา 21:27:34 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 
 ซีรีส์ "Thinking Out Loud คิดเสียงดัง 9 คน 9 ความคิด 9 ความสำเร็จ"
 สถานที่ทำงานของ "พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์" อยู่บนที่ผืนกว้างกว่าพันไร่ จากริมถนนจรดภูเขา ระหว่างเส้นทางจากบ้านพักของเขาไปสู่ห้องทำงานมีลำธารไหลผ่าน ต้นไม้นานาพันธุ์ขึ้นเบียดเสียด และแปลงทดลองปลูกพืชไร่อีกหลากชนิด
พิศิษฐ์ ขับมอเตอร์ไซค์นำทางไปสู่ห้องทำงานของเขา จากปากประตูทางเข้าสถาบันวิจัยยางฉะเชิงเทรา ถนนหลักของอำเภอสนามชัยเขต เฉียด 2 กิโลเมตร เราก็ถึงจุดหมายปลายทาง

โต๊ะทำงานของเขาเป็นห้องขนาดเล็กที่กั้นส่วนจากโรง ติดตั้งของเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดย่อมหมายความว่าก้าวเท้าออกมาจากโต๊ะทำ งานไม่ถึงสิบก้าวเขาจะเจอกับเครื่องจักรเพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์คิด ค้นสูตรแปลงน้ำยางพารามาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยาง  โจทย์งานของเขาในทุกวันนี้ท้าทาย มีหน้าที่คิดค้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยการใช้ต้นทุนที่ต่ำ ที่สำคัญคือมันต้องจับต้องได้และออกไปสู่เกษตรกรจริงๆ  แต่เมื่อลงมือทำงานจริง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในงานเขาเท่านั้น





"พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์" เป็นนักวิทยาศาสตร์ของภาครัฐ เขาดูแล วิเคราะห์ และทดสอบผลิตภัณฑ์ยาง ประจำอยู่ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สังกัดสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แต่เดิมพื้นเพเป็นคน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  เติบโต เรียนหนังสือ และทำงานที่บ้านเกิดมาตลอด  กระทั่งต้องเดินทางจากมาเมื่อตัดสินใจกระโดดจากงานเอกชนเข้าสู่การเป็นข้าราชการเมื่อ 5 ปีก่อน  ในวัยย่างเข้าปีที่ 36 ของชีวิต พิศิษฐ์แต่งงานแล้ว มีลูกหนึ่งคน ขณะเดียวกันเขาค้นพบศักยภาพใหม่ในตัวเอง เห็นว่าตลอดชีวิตการทำงานนับแต่เรียนจบมาจนบัดนี้ นี่คืองานที่เขามีความสุขมากที่สุด ภาคภูมิใจ และอยากรู้จักงานของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น-มากกว่าที่เป็นอยู่


ชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก่อนเข้ามาทำงานเกี่ยวกับยางพารา เป็นอย่างไรบ้าง

หลังผมเรียนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ผมเริ่มมีความกดดันว่าทำไมไม่ได้งานสักที หลังจากเพื่อนๆ ได้งานกันแล้ว  แต่ชีวิตไม่เคยไปไกลจากอุบลฯเลย จบแล้วอยากไปไกลๆ บ้าง เลยตรงมานิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง นั่งรถมาและใช้เวลาทั้งวัน  ตระเวนสมัครตามโรงงานทั้งนิคมเลย แต่ก็ไม่มีใครเรียกเลย พอได้งานก็เป็นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แถวบ้านที่อุบล เขารับสมัครหัวหน้ากะ คุมการผลิต ซึ่งที่จริงเขารับคนจบวุฒิ ปวส.  ผมซึ่งกำลังตกงานก็ไปสมัคร ตอนนั้นอยากมีงานทำเพราะพ่อแม่เราไม่ได้ร่ำรวย อยากมีเงินเดือนเพื่อจะดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ตอนมาสมัคร คนสัมภาษณ์บอกว่า "งานมันหนักนะ ทำได้มั้ย งานลุยนะ ต้องเข้ากะ สภาพร่างกายก็ต้องเตรียมพร้อมนะ" แต่เราเป็นคนไม่เลือกงานอยู่แล้ว บ้านไม่ได้รวย ผมไม่ได้กลัวงานหนัก ตอนเรียนก็ทำงานไปด้วย จำได้ว่าเขาแซวว่า "ไปบนหัวหมูไว้นะ" หลังจากนั้น 2 อาทิตย์เขาก็โทร.มาว่ารับเข้าทำงานแล้ว ในที่สุดก็ได้งานที่อุบลฯ อีกจนได้ (หัวเราะ)

ผมทำส่วนผลิตอยู่ 5 ปี มีหน้าที่ดูแลส่วนผสมสูตรเครื่องดื่ม หลังจาก 5 ปี หัวหน้างานอยากให้ผมมาทำงานในแล็บ เพราะมีความรู้เคมี


ชอบงานคุมการผลิต หรือในห้องแล็บมากกว่ากัน
ทำงานผลิตก็ทำตามสูตร เหมือนงานรูทีน เราทำตามอัตราส่วน ส่วนงานในห้องปฏิบัติการจะเป็นวิชาการมากขึ้น เราต้องดูค่าตัวเลขต่างๆ และตีความออกมา ซึ่งที่จริงมันมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ อย่างเช่น ค่าน้ำเสีย ผมชอบงานในห้องแล็บมากกว่า เพราะเราได้เรียนรู้เยอะ มีโจทย์ด้วยว่าจะทำยังไงให้มีมาตรฐานมากขึ้นด้วย หมายถึงทำอย่างไรให้ผลการทดสอบแม่นยำน่าเชื่อถือ


ทำงานด้านวิทยาศาสตร์อนุญาตให้ผิดพลาดบ้างได้หรือไม่ เจอความผิดพลาดแรงๆ บ้างหรือไม่

ในภาคเอกชนถ้าผิดพลาดเยอะก็จะกระทบกับกำไร ขาดทุน ต้องระมัดระวังมาก ส่วนงานราชการตอนนี้ เราสามารถทดลองผิดถูกได้

งานวิทยาศาสตร์ถ้าเกิดผิดพลาด เราก็เรียนรู้ได้จากมัน เราได้รู้ว่ามันเกิดจากปัจจัยใดบ้าง ถ้าไม่เป็นตามที่ตั้งสมมติฐานก็ต้องมาตามดูปัจจัยอื่นๆ  ก็มีความผิดหวังบ้าง หงุดหงิดบ้าง เพราะลงทุนด้านทรัพยากรและเวลา แต่ก็คิดว่าเหมือนเราทำการบ้านมาไม่ดี บางทีก็ทำตามสูตรแล้ว แต่มีปัญหาข้างหน้าที่เราไม่รู้มาก่อนหน้าก็มี เครื่องจักรหรือฮีตเตอร์เสียระหว่างผลิตก็มี เรื่องแบบนี้จะกลายเป็นกรณีศึกษา





คิดอย่างไรถึงอยากเปลี่ยนมาเป็นข้าราชการ

มี หลายปัจจัยนะที่มาสอบเข้าเป็นข้าราชการส่วนหนึ่งเพราะพ่อผมป่วยผมต้องการได้ สวัสดิการมาดูแลรักษาพ่ออีกอย่างการเป็นราชการที่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ เปิดโอกาสให้เราสามารถศึกษาต่อได้ด้วย คิดว่าการทำงานราชการก็ได้ทำประโยชน์ด้วย เรื่องอยากเข้าเป็นข้าราชการ มันอาจจะเป็นค่านิยมนะครับ แต่เราก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต

ผมสอบเข้าเป็นข้าราชการ ได้เป็นพนักงานราชการ 2 ปี ก่อนมาเป็นข้าราชการ ตอนนั้นเหมือนก็มาลองดูก่อนว่า งานราชการเป็นยังไงด้วย งานที่ได้ก็อยู่ใกล้บ้านที่อุบลเหมือนเดิมคือ ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 4  จ.อุลบราชธานี  ขึ้นอยู่กับกรมวิชาการเกษตร สโคปงานใกล้เคียงกับการอยู่ในห้องแล็บของโรงงาน แต่เปลี่ยนจากการทดสอบอย่างอื่น มาวิเคราะห์ทดสอบดินและปุ๋ยในพื้นที่ อีสานใต้ ช่วงนั้นมีปุ๋ยปลอมเยอะ สารวัตรเกษตรจะไปสุ่มตัวอย่างตามร้านค้ามา เก็บตัวอย่าง และเช็คว่า ปุ๋ยเป็นไปตามสูตรตามฉลากโฆษณามั้ย แต่ตอนนี้มีปุ๋ยปลอมน้อยลงแล้ว จากนั้นมีหน่วยงานเอาข้อมูลที่เราทำการวิเคราะห์ไปใช้ในการวิเคราะห์ว่าต้องปลูกอะไร ใส่ปุ๋ยเท่าไร ทำนองนั้น


เริ่มต้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านยางพาราได้อย่างไร


ผมจำได้ว่า ตอนบรรจุใหม่ปี53-54เป็นปีที่ราคายางดีมากๆ ที่วารินชำราบ ปลูกข้าวเยอะ แต่ช่วงยางพาราราคาสูง บางที่ก็ปลูกในที่นาเลย ยังไม่ทันได้ปรับพื้นที่เลยก็ปลูกกันแล้วก็มี ที่จริงยางพาราต้องปลูกในที่ที่อุดมสมบูรณ์สูง ถ้าเป็นดินทรายก็จะใช้เวลาในการปลูกนานมาก  ปี พ.ศ.2553-2554 ยางกิโลกรัมละ เกือบ 200 บาท คนอีสานก็แห่ปลูกยาง  ย้อนไปคือหลังเป็นพนักงานราชการ 2 ปี ก็สอบบรรจุนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ เดือนเมษายน 2558 เขารับบรรจุโดยทยอยเรียกพนักงานราชการไป ให้เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นมากรุงเทพฯ เลย ให้ไปอยู่ที่สถาบันวิจัยยาง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กรุงเทพฯ  ย้อนไปเราไม่มีความรู้เรื่องยางพาราเลย ตอนแรกก็คิดว่า ยางแบบยางกาว ไม่รู้ว่าหมายถึงยางพารา เริ่มต้นด้วยความไม่รู้ ไม่มีประสบการณ์เลย ก็เริ่มตั้งแต่ทำไมต้องหาค่าสิ่งสกปรกในยาง หาค่าความชื้นในยาง เราก็มาดูว่ามีความสำคัญหรืออันตรายยังไง เพื่อไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน จากนั้นก็ได้เรียนรู้งานห้องแล็บยาง ได้ทดสอบยาง จากนั้นก็มาดูว่ายางเอาไปแปรรูปอะไรได้บ้าง

หลังจากอยู่ที่ ม.เกตร 6 เดือน ตุลาคม 2553 ก็ได้รับมอบหมายให้มาที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา มาเปิดห้องแล็บใหม่ที่นี่  ตอนนั้นภาครัฐมีนโนบายเปิดหน่วยงานสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมยางกระจายทั่วทุกภูมิภาค  ซึ่งก่อนหน้านี้มีกรุงเทพฯ และสงขลา เป็นหลัก  แต่นโยบายนี้คือ มาเปิดในอีสานที่หนองคาย และภาคตะวันออกคือที่ฉะเชิงเทรา





เรียนรู้งานใหม่เรื่องการแปรรูปยางพารา ต้องเริ่มต้นจากเข้าใจอะไรบ้าง

การแปรรูปยางวัตถุดิบขั้นต้น คือเอาน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบคุณภาพดี แล้วจากยางแผ่นดิบคุณภาพดีไปเป็นยางแผ่นรมควันคุณภาพดี  ยางแบบนี้ได้มูลค่าเพิ่มดีกว่า จากนั้นค่อยเอายางแผ่นรมควันคุณภาพดี ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

น้ำยางพาราเวลากรีดออกมาจากต้น ก็แปรรูปได้ทั้งเป็นของเหลวและของแข็ง การทำน้ำยางข้นคุณภาพดี  ให้เป็นของแข็งคือ ให้เอาน้ำยางสดมาจับตัวกับกรดฟอมิก เพื่อทำเป็นเป็นยางแผ่น หรือยางก้อนถ้วย โดยการจับตัวในภาชนะ ยางก้อนจะสามารถเอาไปนวด จากนั้นรีดเป็นแผ่น  ซึ่งขั้นตอนนี้จะกลายมาเป็น "ยางแผ่นดิบ" ซึ่งมันจะมีความชื้นและน้ำฝังอยู่มากในเนื้อยาง จากนั้น กระบวนการที่จะเอาน้ำและไล่ความชื้นออกคือ เอาเข้าห้องรมควัน พอน้ำออกควันก็จะเข้าไปเคลือบ ซึ่งจะกลายเป็น ?ยางแผ่นรมควัน? เป็นยางแผ่นสีน้ำตาลๆ ทีนี้ก็จะเป็นยางแผ่นที่ป้องกันเชื้อราได้ 

ยางหลายรูปแบบสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้ต่างกัน เช่น น้ำยางข้นก็สามารถไปทำถุงมือ ถุงยางอนามัย หรือลูกโป่ง ถ้าเป็นยางแผ่นรมควัน ประเทศจีนก็จะซื้อไปทำล้อรถยนต์ คือจาก 70 % ของทั้งหมดที่เขาซื้อคือไปทำล้อยาง นอกจากนี้ ก็ทำเป็นสายพานต่างๆ และบล็อกปูพื้น การทำน้ำยางข้น หรือ ยางแผ่นรมควัน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนผลิต ถ้าเป็นกลุ่มเกษตรกรเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ รวบรวมน้ำยางมาผลิตยางแผ่นรมควัน แต่ตอนนี้สิ่งที่ภาครัฐ อยากสนับสนุนคือ หลังจากรวมกลุ่มกันทำยางแผ่นรมควันแล้ว ก็อยากให้เอายางมาอัดเป็นก้อนลูกเต๋า เพราะราคาดีกว่า


ดูแลงานอะไรบ้างที่ศูนย์วิจัยยางพารา

หลักๆ ดูแปรรูปวัตถุดิบยางพารา อีกส่วนผมทำงานในห้องทดสอบยางแท่งของบริษัทเอกชน แล้วออกใบรายงานผล เพื่อไปใช้ในการส่งออก และยังมีงานออกไปให้ความรู้กับเกษตรกรด้วย ส่วนเรื่องถนนยางพารา ผมเป็นหนึ่งในทีมทำงานช่วย ผอ.นพรัตน์ วิชิตชลชัย ที่ดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมยางจากส่วนกลาง


งานที่ได้รับมอบหมายเป็นส่วนสำคัญด้านนโยบายเรื่องยางพาราตอนนี้

จริงๆแล้วนโยบายของสถาบันการวิจัยยาง อาจไม่ค่อยข้องเกี่ยวกับราคายางในตลาดคือต้องวิจัยต่อไป  ยิ่งช่วงราคาตกยิ่งต้องทำงานให้มากขึ้น เพื่อจะผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้จากสวนยางให้มากขึ้น  ตรงกับนโยบายผลักดันให้ใช้ยางในประเทศแบบปลายน้ำมากขึ้น เช่น  ตอนนี้ที่เราเอายางพาราผสมยางมะตอย เพื่อทำถนน  นี่คือสิ่งที่อยากสนับสนุนมากๆ เพราะจะทำให้ได้ใช้ยางในประเทศมากขึ้นจริงๆ

ตอนนี้ที่ทำหลักๆ คือ พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรให้รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ให้มากขึ้น  เพราะถ้าเกษตรกรรายย่อยไปขายเองจะโดนกดราคาจากพ่อค้าอยู่ จะไม่ได้รับราคาที่เป็นธรรม ถ้าสามารถรวมเงินลงทุนติดตั้งเครื่องจักรแปรรูปยางแผ่นรมควันจะดี  และถ้าทำได้แล้ว เราก็แนะนำให้ทำการอัดก้อนยางอีก เพราะจะเพิ่มมูลค่าได้กิโลกรัมละ 3-4 บาท  หลักๆ คือต้องการให้เกษตรกรยืนได้ด้วยกลุ่มตนเอง ในพื้นที่ตะวันออก ยังไม่ค่อยมีเกษตกรรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์แบบภาคใต้ ส่วนมากยังเป็นบริษัทเอกชนที่ยางแผ่นรม เกษตรกรจำนวนมากในตะวันออกยังทำแต่ยางแผ่นดิบอยู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ เข้าไปแนะนำให้ทำแผ่นยางดิบยังไงให้ขายได้ราคาสูงขึ้น เพราะตอนนี้ บางที่ยังทำยางแผ่นดิบออกมาไม่มาตรฐานคือ มีฟองอากาศเยอะ ยังมีจุดสกปรกบนแผ่นยาง ขายได้ราคาต่ำ

บางทีเราก็ต้องลงพื้นที่ ไปแนะนำถึงที่ที่เขาทำ บอกกระบวนการในการทำที่ถูกกับเขาเลย การเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่จำเป็นว่าจะอยู่แต่ในห้องแล็บอย่างเดียว เราต้องเอางานของเราไปถ่ายทอดในพื้นที่จริง เอาไปให้ถึงมือเกษตรกรด้วย





ออกไปในพื้นที่เจออะไรบ้าง

เกษตรกรบางคนก็ยังติดกับการแปรรูป ทำแบบเดิมๆ อย่างเช่น การเก็บยางแผ่นดิบที่ต้องไปในที่ที่ร้อน เพื่อไล่ความชื้นออก เกษตรกรบางคนเชื่อว่าต้องทำหลังคาโรงเก็บยางแผ่นดิบ ให้บางส่วนเป็นกระเบื้องแผ่นใส เพื่อให้แสงเข้าไปในโรงเก็บมากขึ้น แต่ความเป็นจริงคือ การให้แผ่นยางโดนแสงยูวีตรงๆ แบบนั้น มันทำให้คุณภาพยางตกลง ผมก็ต้องไปแนะนำว่า ให้ใช้แผ่นหลังคาใสที่กรองยูวีได้ แต่ราคาก็แพงอีก ก็ต้องแนะนำให้ทำโรงเก็บยางที่ใช้แผ่นสังกะสีสีดำซึ่งราคาถูกกว่า ช่วยเก็บกักความร้อนในโรง แล้วก็ทำช่องระบายความชื้นออกให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้มีเชื้อรา

เวลาเราไปดูปัญหาจริงๆ ของเกษตรกร หรือไปขอดูงานของโรงงานเอกชนที่เขามีปัญหาแต่ยังแก้ไขไม่ได้ เราก็ขอไปดูแล้วมาต่อยอดศึกษาได้ด้วย อย่างเช่น เราไปขอตัวอย่างยางของสวนยางในแถบภาคตะวันออกมาขอทดสอบดู ปรากฏว่า ค่าแสดงความยืดหยุ่นของยางออกมาต่ำมาก เมื่อเทียบยางที่เราทำ เราอยากรู้ว่าเพราะอะไร เลยขอไปดูสถานที่จริง พอเห็นก็ อ้อ มีทั้งผสมไม่ถูกส่วน หรือจัดเก็บยางไม่ถูกวิธี เอายางมาพึ่งกลางแจ้ง บางทีก็เอาไปอบในอุณหภูมิสูงเกิน แบบนี้ เราเอามาเป็นโจทย์ในการวิจัยได้ จากนั้นเอาข้อมูลที่ได้มาไปอบรมเกษตรกร ก็ต้องตามอีกว่า เกษตรเหล่านี้ได้นำไปปฏิบัติแล้วดีขึ้นมากน้อยเท่าไหร่ด้วย

นอกจากนี้ เรายังมีโรงบ่มพลังงานแสงอาทิตย์ที่เราทำมา 2-3 ปี โครงการนี้มาจาก อาจารย์ปรีเปรม ทัศนกุล จากศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตร สงขลา เราเอาความรู้เรื่องนี้มากระจายในกรมวิชาการเกษตรหลายๆ ที่ ให้เกษตรกรมาดูงานได้ ว่าจะอบยางทำยังไง ไล่ความชื้นยังไงไม่ให้เกิดเชื้อรา ทำยังไงให้ยางออกมาเป็นแผ่นสีสวยๆ เรามีโรงงานต้นแบบให้ดู  มีเกษตรกรมาดูเรื่อยๆ และมีบางคนมาขอแปลนไปทำบ้าง ราคาโรงบ่มที่เราวิจัยนี้ เป็นราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้ คือประมาณ 60,000 บาท บางทีงานวิจัยการเกษตรก็ต้องคิดถึงต้นทุนด้วยว่าเกษตรกรเข้าถึงได้ ไม่ใช่ว่า งานได้ผล แต่ใช้วัสดุอุปกรณ์แพงมาก ต้องนึกถึงเรื่องนี้ก่อน

บางเรื่องเราแนะนำ เกษตรกรก็ไม่ทำตามหรอก เพราะเขามีปัญหาอื่นๆ อีก นอกจากเรื่องความรู้  บางทีเขาก็รู้ แต่ไม่อยากเพิ่มต้นทุน หรือไม่มีต้นทุนในการทำหรือปรับปรุง เขาก็ทำแบบเดิมๆ ก็มี


ค้นพบหรือชอบอะไรที่สุดในการเป็นนักวิทยาศาสตร์

หลังๆ มา ผมได้ค้นพบว่า ผมชอบการได้ออกไปให้ความรู้กับเกษตรกร เพราะแต่ก่อนผมเป็นคนพูดไม่เก่ง และได้มีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ของเราให้เขาได้ จะบอกว่างานในห้องแล็บอิ่มตัวก็ไม่เชิง แต่ก่อนหน้านี้ ผมไม่ได้ออกไปเจอคนข้างนอกมากนัก นี่คือสิ่งที่เพิ่มมาตอนเป็นข้าราชการที่นี่ คือได้ออกไปดูสถานที่ที่เกษตรกรผลิตจริงๆ ของเขา ดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ช่วยเขาแก้ปัญหา ก็เหมือนเราเป็นคุณครู ได้แนะนำเขา ประทับใจสิ่งนี้


สำคัญมั้ยสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องออกไปให้ความรู้คนที่เอาข้อมูลเราไปใช้


สำคัญนะครับเพราะบางทีงานวิจัยมันไม่ไปถึงมือเกษตรกรเพราะเป็นเรื่องการถ่ายทอดด้วยงานเขียนทางวิชาการเกษตรกรอ่านแล้วไม่เข้าใจ
อย่างเช่น ต้องตวงอะไรบางอย่าง 1,000 มิลลิลิตร หรือ 1,000 ซีซี เขาก็ไม่เข้าใจนัก  เราก็อ๋อ ประมาณ 3 กระป๋องนมนั่นล่ะ งานวิจัยต้องได้ทำในทางปฏิบัติ งานวิจัยที่ทำออกมามีหีบห่อมาก แต่บางทีไม่ไปถึงเกษตรกรไม่ได้ ผมว่าการให้ความเข้าใจนี่เป็นวิธีการที่ทำให้งานวิจัยของเราถูกเอาไปใช้มากขึ้นด้วย





คนเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติยังไงบ้าง

ก็แน่ว่าต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยแต่ก็ไม่เสมอไปว่าจะต้องทำงานตรงตามสาขาที่เรียนมาผมมองว่า งานวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ เรียนรู้กันได้ แต่ต้องตั้งใจทุ่มเทด้วย ต้องใจรักกับงาน สนุกกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราจะได้ไม่ต้องตื่นเช้าแบบกังวลว่าพรุ่งนี้เป็นวันจันทร์ อีกอย่างการทำงานวิทยาศาสตร์ก็ต้องอ่านเอกสารเยอะ เพราะมีงานวิจัยจากหลายมุมมองของนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจ ต้องเป็นคนที่รักการค้นคว้าหาอ่าน

ที่สำคัญคือ เป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานเป็นทีมให้เป็นด้วย ทำงานคนเดียวไม่ได้ เพราะงานชิ้นนึงต้องอาศัยคนที่มีความรู้จากหลายสาขาอาชีพมาช่วย อย่างเราทำผลิตภัณฑ์ตัวนึงขึ้นมา ก็ต้องไปสานงานกับนักการตลาด และเกษตรกรด้วย ทีมจึงสำคัญมาก เราต้องอาศัยคนมีประสบการณ์มาคอยชี้แนะเรา


อยากพัฒนางานในความดูแลอะไรอีกบ้าง เป้าหมายถัดจากนี้คืออะไร


เพิ่มอีกเยอะครับ เรื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเนี่ย ผมมองว่า อุตสาหกรรมยางยังขาดนักวิทยาศาสตร์อีกมาก ต้องมีการเรียนรู้อีกมาก ถ้ามองนโยบายรัฐคือได้เน้นพัฒนาปลายน้ำอุตสาหกรรมยาง ทั้งแปรรูปและเพิ่มมูลค่า ไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างเรื่องปลูกอีกแล้ว  ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนางานเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เราแปรรูปยางในประเทศได้มากขึ้น เป็นเรื่องดี ถ้าทำได้ เราก็คงอยากเห็นยางรถยนต์ที่เป็นแบรนด์ไทย เพื่อช่วยลดการส่งออกวัตถุดิบ  ถ้าผลิตเองได้ก็ยกระดับเรื่องราคายางในประเทศด้วย ถนนยางพาราด้วย ถ้าได้รับการสนับสนุนก็จะลดสต็อกยางที่มีได้ด้วย เรื่องพวกนี้ เราต้องศึกษาอีกมาก และคิดว่าน่าจะพัฒนาจะต่อยอดได้เรื่อยๆ เรื่องเป้าหมายอยากเรียนต่อปริญญาโทครับ อยากต่อยอดความรู้ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยางพารา ที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีพอลีเมอร์  ซึ่งเน้นเรื่องกระบวนการสังเคราะห์ยางต่างๆ


สนุกกับงานมั้ย ณ ตอนนี้

สนุกครับ มีความสุข เหมือนทำอาหารน่ะครับ ลองสูตรนั่น สูตรนี่ ตั้งแต่เรียนจบมาก็ชอบงาน ณ ตอนนี้ที่สุด แม้ในบางจุดมันมีข้อเสีย แต่เราเหมือนได้อย่างที่เราวางไว้ ได้อย่างที่ใจต้องการ