วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ลมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนกำลังลง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนภาคอื่น ๆ มีหมอกบางในตอนเช้าและมีฝนบางแห่งร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่
2. การใช้ยาง
- บริษัทโตโยต้ามอร์เตอร์ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์เดือนกันยายนมีจำนวนทั้งสิ้น 61,896 คัน ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับตลาดรถยนต์สะสม 9 เดือน มีปริมาณขาย 553,832 คัน ลดลงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนตลาดรถยนต์เดือนตุลาคมมีแนวโน้มทรงตัว จากดัชนีการขายตามฤดูกาลชี้ว่าไตรมาสสุดท้ายจะมียอดขายสูงสุด ด้วยข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากทุกค่ายรถมาเสนอต่อผู้บริโภคเพื่อบรรลุเป้าหมายการขายของปี
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2558 ลดลง 403 ตัน หรือลดลงร้อยละ 5.12 อยู่ที่ 7,464 ตัน จากระดับ 7,867 ตัน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558
4. เศรษฐกิจโลก
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศตะวันออกกลางจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 ในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบยังคงยืดเยื้อในบางพื้นที่
- ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นที่ปรึกษาทางการเงินสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้จำนวนที่ปรึกษาทางการเงินที่มีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 37.0 จากระดับร้อยละ 36.5 ในสัปดาห์ก่อน ส่วนผู้ที่ไม่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 31.3 จากร้อยละ 31.2
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวเตือนว่า เขารู้สึกกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้การผิดนัดชำระหนี้ โดยความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นเพิ่มขึ้น หากสภาคองเกรสไม่ดำเนินการให้ทันเวลา
- ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 5 ในวันพรุ่งนี้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ในไตรมาส 1 และ 2 ที่ร้อยละ 4.71 และ 4.67 ตามลำดับ
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.60 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.24 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 119.89 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.05 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤศจิกายนปิดตลาดที่ 45.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.09 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยสต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ปิดที่ 47.85ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.86 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2558 ลงมาอยู่ที่ 52 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก 75 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ที่ระบุไว้ในรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ก่อน โดยสต๊อคน้ำมันเพิ่มขึ้น 8.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 476.6 ล้านบาร์เรล เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 154.5 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 165.8 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.8 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 127.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- มีรายงานว่า มาตรการบริหารเงินฉุกเฉินรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดอายุวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสี่ยงที่จะขาดแคลนงบประมาณในการบริหารประเทศ หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล จากระดับ 18.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในปัจจุบัน
9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางทรงตัว เพราะตลาดต่างประเทศยังคงซบเซาและไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ กระตุ้นตลาด ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า และผู้ประกอบการบางส่วนยังคงซื้อเก็บ เพราะเกรงจะขาดแคลนยางเพื่อส่งมอบ ซึ่งส่วนมากเป็นสัญญาซื้อขายเดือนไกล
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และความวิตกกังวลในเศรษฐกิจจีน อาจทำให้อุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ส่วนปัจจัยบวกมาจากเงินบาทอ่อนค่า และผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อย เพราะภาคใต้อยู่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่ยังต้องติดตามปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐที่ออกเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาราคายางทั้งระบบ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคายางในระยะต่อไป
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา