วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ภาคใต้มีฝนกระจายเกือบทั่วไป ร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ทำให้ในระยะนี้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ส่วนภาคอื่น ๆ อุณหภูมิลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส และมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่
2. การใช้ยาง
- สมาคมผู้ผลิตรถยนต์รายงานว่า การผลิตรถยนต์ รถบรรทุก และรสบัสของญี่ปุ่นเดือนกันยายนลดลงร้อยละ 2.6 แตะระดับ 828,817 คัน เทียบกับ 851,177 คันในช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ส่วนอุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ 479,375 คัน ปรับตัวลงร้อยละ 7.6
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2558 เพิ่มขึ้น 2,867 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28 อยู่ที่ 227,249 ตัน จากระดับ 224,382 ตัน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2558
- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ลดลง 114 ตัน หรือลดลงร้อยละ 1.53 อยู่ที่ 7,350 ตัน จากระดับ 7,464 ตัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558
4. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน เชื่อว่าแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงมีความเหมาะสม แม้มีภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในจีนและกลุ่มประเทศเกิดใหม่
- กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกันยายนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
- สำนักงานสถิติสหภาพยุโรปรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นแตะร้อยละ 0 หลังจากเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ -0.1 และคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังมีแนวโน้มขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมเดือนธันวาคม เพื่อหนุนให้เงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนตุลาคมแตะที่ระดับ 49.8 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนกันยายน เป็นการสะท้อนว่าภาคการผลิตของจีนยังปรับตัวดีขึ้น แต่ความต้องการยังคงอ่อนแรง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) นอกภาคการผลิตเดือนตุลาคมแตะระดับ 53.1 ลดลงจากเดือนกันยายนร้อยละ 0.3 เนื่องจากธุรกิจค้าปลีก ตลาดทุน ขยายตัวในจังหวะช้าลง
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.57 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.04 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 120.42 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.57 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคมปิดตลาดที่ 46.59 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.53 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มลดน้อยลง
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 49.56ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.76 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม อยู่ที่ 151.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.3 เยนต่อ กิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ 159.5 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.6 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 125.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.6 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- เซฟรอน คอร์ป บริษัทผลิตน้ำมันใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ รองจากอํกซอน โมบิล คอร์ป ปะกาศปลดพนักงานพร้อมลดค่าใช้จ่าย หลังเปิดเผยรายได้และกำไรที่ลดลง
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับทบทวนการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 เป็นช่วงครึ่งหลังของปีงบการเงิน 2559 จากเดิมที่ประเมินไว้ในช่วงครึ่งแรก ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง และภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดยังไม่ได้ตัดสินใจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ถึงแม้แถลงการณ์ของเฟดบ่งชี้ว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อไม่ให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก หากเฟดมีการดำเนินการดังกล่าวจริง
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางน่าจะทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมาก เพราะยังมีแรงหนุนจากผลผลิตน้อยจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกรีดยาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อยังคงซบเซา ทำให้ขายออกยาก
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในกรอบแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และอุปทานยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากภาคใต้มีฝนตกชุกเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ส่วนปัจจัยลบมาจากความกังวลเกี่ยวกับกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ ประกอบกับสต๊อคยางจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้ที่ 227,249 ตัน (วันที่ 30 ตุลาคม 2558) จากระดับ 224,382 ตัน (วันที่ 23 ตุลาคม 2558) บ่งชี้ว่าการใช้ยางยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจ
ที่ชะลอตัว
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา