ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 1118 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88342
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่  23  ธันวาคม  พ.ศ. 2558
ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 30 - 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง

2. การใช้ยาง


- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนพฤศจิกายนมีจำนวน 76,421 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 31 เดือน ส่วนยอดการผลิตรถยนต์โดยรวมของเดือนพฤศจิกายนทำได้ทั้งสิ้น 163,170 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.25 ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ 11 เดือนแรกของปีนี้ผลิตได้จำนวน 1,760,310 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.97

3. เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขั้นสุดท้ายสำหรับไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยต่ำกว่าตัวเลขประเมินครั้งก่อนที่ร้อยละ 2.1 และต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่ร้อยละ 3.9 การชะลอตัวของ GDP ดังกล่าวเกิดจากการลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ยังคงสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ร้อยละ 1.9 และสูงกว่าร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรก

- ธนาคารแบงค์ ออฟ ไชน่า (BOC) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 6.8 ในปีหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ การเติบโตของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและการใช้จ่ายด้านบริโภคในระดับสูง ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่เอื้อต่อการส่งออก

- นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาส 4 โดยความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและราคาที่ลดลงจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตที่ร้อยละ 2.1 ในปีนี้ และร้อยละ 2.4 ในปีหน้า

- รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีงบประมาณ 2559 จะขยายตัวราวร้อยละ 1.7 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2559 เนื่องจากการใช้จ่ายผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น และการลงทุนที่แข็งแกร่ง

- รัฐบาลจีนเตรียมปรับนโยบายการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะปรับนโยบายการเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวในกรอบที่เหมาะสมในปี 2559 โดยรัฐบาลจะเน้นไปที่การปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง

- ผลสำรวจของบริษัทวิจัย Gfk เปิดเผยให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเยอรมันมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงเริ่มต้นปี 2559 โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 9.4 ในเดือนมกราคม เทียบกับ 9.3 ในเดือนธันวาคม

- ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเม็ดเงิน 3.0 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านทางข้อตกลงซื้อพันธบัตร โดยมีสัญญาขายคืนระยะ 7 วัน

- รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติแผนงบประมาณมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวน 96.72 ล้านล้านเยน (7.98 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ) สำหรับปีงบประมาณ 2559 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการคลัง รวมถึงรับมือกับสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ในไตรมาส 3 และช่วยหนุนการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.04 การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และราคาบ้านที่เพิ่มขึ้น

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 36.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.04 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 120.97 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.25 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ธนาคารแบงค์ ออฟ ไชน่า (BOC) คาดว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงสู่ระดับ 6.6 หยวนต่อดอลล่าร์สหรัฐ โดยถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงคาดว่าเงินหยวนจะมีเสถียรภาพหลังจากอ่อนค่าลงในช่วงแรก

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2559 ปิดตลาดที่ 36.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.33 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขั้นสุดท้ายไตรมาส 3 ที่ขยายตัวได้ดีเกินคาด และตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมกราคม 2559 ปิดที่ 36.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.24 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

6. การเก็งกำไร


- ตลาดล่วงหน้า TOCOM ปิดทำการ 1 วัน เนื่องในวัน The Emperor's Birthday

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 123.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐฯ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายบ้านมือสองเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 10.5 ซึ่งเป็นการทรุดตัวมากที่สุดในรอบ 19 เดือน สู่ระดับ 4.76  ล้านยูนิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการออกกฎบังคับใหม่ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

- เจ้าหน้าที่จากสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของจีนเปิดเผยว่า ยอดการผลิตเหล็กกล้าจะเข้าสู่ขาลงในระยะยาว เนื่องจากยอดการผลิตและการใช้งานเหล็กกล้าอยู่ในจุดสูงสุดแล้ว

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางน่าจะทรงตัว โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศค่อนข้างเงียบ เพราะเตรียมหยุดยาวในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในประเทศบางส่วนยังมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบปิดสัญญาก่อนสิ้นปี ขณะที่ปริมาณผลผลิตยังออกสู่ตลาดน้อย

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และนักลงทุนขานรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขั้นสุดท้ายไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดที่ร้อยละ 2.0 ส่วนปัจจัยลบมาจากเงินเยนและเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการชะลอซื้อของนักลงทุนก่อนถึงวันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา