วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่
2. การใช้ยาง
- บริษัทกู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้รับเลือกจากบริษัทโบอิ้งให้เป็นผู้ผลิตยางสำหรับล้อเครื่องบิน สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 777X รุ่นใหม่ล่าสุดที่มีกำหนดการนำส่งภายในปี 2562 กู๊ดเยียร์จะเป็นผู้ผลิตยางแบบเรเดียลให้กับเครื่องบินโบอิ้ง 777X นับเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำหรับเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดของกู๊ดเยียร์ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี Featherweight Alloy Core Bead นับเป็นเทคโนโลยี Lightweight Radial Aircraft ล่าสุดของกู๊ดเยียร์ที่ครบถ้วนด้วยประสิทธิภาพด้านอื่น อาทิ เข็มขัดรัดหน้ายางที่แข็งแรงทนทาน เพื่อเพิ่มความมั่นคงในทุกมิติ ช่วยยืดอายุการใช้งาน และทนทานต่อการสึกหรอ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า การส่งออกรถยนต์อีโคคาร์ปี 2558 สามารถทำตลาดได้ค่อนข้างดีมาก โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น ออสเตรเลีย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้การส่งออกรถยนต์ปี 2558 มีโอกาสขยายตัวได้ถึงกว่าร้อยละ 9 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยการส่งออกรถยนต์กว่า 1,230,000 คัน เป็นการส่งออกรถยนต์นั่งเกือบ 500,000 คัน ขยายตัวกว่าปี 2557 ถึงกว่าร้อยละ 19
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 15 มกราคม 2559 เพิ่มขึ้น 5,429 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 อยู่ที่ 261,766 ตัน จากระดับ 256,337 ตัน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559
- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพิ่มขึ้น 95 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 อยู่ที่ 6,204 ตัน จากระดับ 6,109 ตัน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558
4 เศรษฐกิจโลก
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวว่า การเริ่มต้นกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นไปด้วยดี แต่เขายังไม่สามารถระบุได้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดจะดำเนินการเร็วเพียงใดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป ทั้งนี้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 อยู่ในช่วงร้อยละ 0.25 - 0.50 ในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 หรือในรอบเกือบ 10 ปี
- ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ระบุว่า ธนาคารไม่มีความจำเป็นและไม่มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการผูกติดค่าเงินกับดอลล่าร์สหรัฐ ถึงแม้เงินดอลล่าร์ฮ่องกงทรุดตัวลงในขณะนี้ ทั้งนี้ ดอลล่าร์ฮ่องกงทำสถิติดิ่งลงหนักที่สุดในช่วง 2 วันนับตั้งแต่ปี 2529 และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554
- ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเบื้องต้นผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม แตะระดับ 93.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 และสูงกว่าระดับ 92.6 เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จะลดลงสู่ระดับ 92.2 ในเดือนมกราคม
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.31 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 117.30 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.64 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 29.42 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.78 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากมีรายงานว่าอิหร่านเตรียมส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าชาติมหาอำนาจอาจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในอีกไม่กี่วันนี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 28.94 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.94 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 148.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 1.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 157.8 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.1 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 128.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือร้อยละ 10.5 จากร้อยละ 10.6 ในเดือนตุลาคม นับเป็นอัตราว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ขณะเดียวกันผลการสำรวจความเชื่อมั่นโดยคณะกรรมาธิการ-ยุโรปพบว่า เดือนธันวาคมภาคธุรกิจและผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 106.1 ในเดือนพฤศจิกายน เป็น 106.8 ในเดือนธันวาคม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อื่น ๆ
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการแข็งค่าของเงินเยน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางโดยการรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางในราคาชี้นำตลาด
ซึ่งผู้ประกอบการยังคงต้องรอดูสถานการณ์และติดตามกระแสข่าวรายวัน
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของรัฐบาลที่รับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง จำนวน 100,000 ตันในราคานำตลาด และกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ผู้ประกอบการจึงเร่งซื้อยางเพื่อส่งมอบให้ทันตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ราคายางมีปัจจัยกดดันจากราคา
ตลาดล่วงหน้าโตเกียวที่ปรับตัวลดลง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าการส่งออกและการผลิตของจีนยังไม่ฟื้นตัว
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา