วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนลงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นโดยทั่วไป ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย รายงานว่าปริมาณการผลิตยางธรรมชาติของมาเลเซียในเดือนพฤศจิกายน 2558 มีปริมาณ 51,146 ตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2558 20,243 ตัน(หรือลดลงร้อยละ 28.4) และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 1,587 ตัน (ร้อยละ 3.0)
3. เศรษฐกิจโลก
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลงร้อยละ 0.1 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน โดยถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดลง และการแข็งค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.7 ในเดือนธันวาคม
- กระทรวงพาณิชย์ของจีน กล่าวว่า ยอดส่งออกเดือนมกราคม ของจีน คาดว่าจะชะลอลงหลังจากที่สถิติในเดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยตามฤดูกาล ข้อมูลทางการระบุว่ายอดส่งออกของจีนในเดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบรายปี หลังจากหดตัวลงเป็นเวลา 5 เดือน ติดต่อกัน
- รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยในรายงานว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่เศรษฐกิจบางพื้นที่อาจอ่อนตัวลง อีกทั้งยังมีการเพิ่มคาดการณ์การผลิต หลังจากที่ยอดขายรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- สภาหอการค้าจีนประจำสหรัฐ เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐ เติบโตอย่างต่อเนื่องในปีที่แล้ว โดยจีนแซงหน้าแคนาดา ขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน
- กระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในเดือนธันวาคม ลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบรายปีแตะระดับ 7.702 หมื่นล้านหยวน (1.223 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ(ODI) นอกภาคการเงินในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 8.65 หมื่นล้านหยวน (1.389 หมื่นล้านอลลาร์สหรัฐ)
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 0.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 117.35 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.15 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 26.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) รายงานว่า สต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายก่อนที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยรายงานสต๊อกน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการในวันนี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ที่ตลาดลอนดอนปิดที่ 27.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 148.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 157.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.7 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 127.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นที่สร้างบ้านลดลงในเดือนธันวาคม ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ได้ชะลอตัวลง ทั้งนี้ เปิดเผยว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลงร้อยละ 2.5 ในเดือนธันวาคม สู่ระดับ 1.149 ล้านยูนิต ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านจะแตะระดับ 1.2 ล้านยูนิต ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ชะลอตัว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในอังกฤษลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 หรือในรอบกว่า 10 ปี โดย ONS ระบุว่าอัตราว่างงานในเดือนกันยายน ? พฤศจิกายน ลดลงสู่ระดับร้อยละ 5.1 จากระดับ 5.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางน่าจะปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความต้องการซื้อ เพราะเกรงจะขาดแคลนยาง ทำให้ราคาไม่ปรับลดลงมากในระยะนี้
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดโตเกียว โดยมีปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่า 27 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน IMF คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 6.3 ในปี 2559 และร้อยละ 6.0 ในปี 2560 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ออกมาย่ำแย่ อย่างไรก็ตามราคายางยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการซื้อยางของรัฐบาลและเงินบาทอ่อนค่า รวมทั้งปริมาณผลผลิตที่เริ่มลดลงตามฤดูกาล
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา