ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559  (อ่าน 915 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88364
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่  27  มกราคม  พ.ศ. 2559
ปัจจัย

วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ

- บริเวณความกดอากาศสูงเริ่มอ่อนกำลังลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และนราธิวาส เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง

- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 2559 - 2569 โดยมีธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์อีก 6 แห่งเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
3. เศรษฐกิจโลก

- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า ธนาคารจีนกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนราคาหุ้น และกระแสเงินทุน
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) อัดฉีดเม็ดเงินมูลค่า 4.4 แสนล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านการดำเนินงานทางตลาดเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับความต้องการเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน
- คอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด เผยผลสำรวจว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมกราคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98.1 หลังแตะระดับ 96.3 ในเดือนธันวาคม
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า เดือนมกราคมภาคการผลิตในภูมิภาคแอตแลนติกตอนกลางอยู่ในภาวะซบเซา สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้ระบุว่าดัชนีภาวะธุรกิจในปัจจุบันของภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 2 ในเดือนมกราคม หลังจากอยู่ระดับ 6 เมื่อเดือนธันวาคม เพราะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐ และอุปสงค์ที่อ่อนแอ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจรัสเซียเปิดเผยว่า เศรษฐกิจรัสเซียหดตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557
4. อัตราแลกเปลี่ยน

- เงินบาทอยู่ที่ 35.82 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.17 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.20 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.13 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน

- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 31.45 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.11 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกกลุ่มโอเปคจะทำข้อตกลงร่วมกันปรับลดกำลังการผลิต เพื่อสกัดการลดลงของราคาน้ำมัน และเพื่อแก้ไขหากน้ำมันล้นตลาด
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดที่ 31.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.30 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ราคาเฉลี่ยน้ำมันในปีนี้จะลดลงสู่ระดับ 37 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยลดลงมากกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2557 ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าภาวะน้ำมันล้นตลาดจะยังคงอยู่ต่อไป ท่ามกลางการชะลอตัวของตลาดเกิดใหม่ โดยธนาคารโลกยังระบุว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันปีที่แล้วลดลงร้อยละ 47 จากปี 2557 อยู่ที่ 50.8 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะแตะระดับ 58.8 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2562
6. การเก็งกำไร

- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 151.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.3  เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 158.8 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.5 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 123.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 4.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว

- สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และเคส ซิลเลอร์ เปิดเผยผลสำรวจว่า ราคาบ้านในสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี สาเหตุจากปริมาณบ้านที่เสนอขายในตลาดมีจำกัด อัตราดอกเบี้ยจำนองอยู่ในระดับต่ำ และภาวะตลาดแรงงานดีขึ้น
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ

- ราคายางทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในทิศทางปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ส่งออกต้องปรับราคาลง เพราะผู้ซื้อเสนอซื้อในราคาต่ำ ถ้าสูงเกินไปก็จะไม่ซื้อ อย่างไรก็ตาม ราคายางไม่ปรับลดลงมาก เพราะยังมีแรงหนุนจากโครงการภาครัฐ และสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ภาคใต้ของไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ รวมทั้งการรับซื้อยางจากชาวสวนโดยตรงตามนโยบายของรัฐบาลยังเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง เงินบาทแข็งค่า และนักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย เพื่อรอดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่สิ้นสุดในวันนี้ ยังเป็นปัจจัยลบต่อราคายางได้ในระดับหนึ่ง

ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา