ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559  (อ่าน 881 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 88364
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่  28  มีนาคม  พ.ศ. 2559

ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- บริเวณภาคเหนือและภาคกลางยังคงมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ร้อยละ 10 - 20 ในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีเมฆมากและมีฝนตกได้ในบางพื้นที่ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางภาคใต้ตอนบน ทำให้สภาพอากาศคลายร้อนลงได้บ้างในระยะนี้

2. การใช้ยาง


- บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณจำหน่าย 57,093 คัน ลดลงร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

- เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 รัฐบาลอินโดนีเซียกล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐของอินโดนีเซียและบริษัทตัวแทนรัฐบาลจะรับซื้อยางที่ผลิตในประเทศประมาณ 5 แสนตัน เพื่อสนับสนุนราคายาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยางในประเทศ และการเปลี่ยนแปลงระดับราคายางในตลาดโลก

3. สต๊อคยาง


- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 25 มีนาคม 2559 เพิ่มขึ้น 3,003 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 อยู่ที่ 286,622 ตัน จากระดับ 283,619 ตัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559

4. เศรษฐกิจโลก


- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า กำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของจีนขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559

- อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุในบทความว่า การชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่สามารถรักษาอัตราการขยายตัวอย่างน้อยที่ระดับร้อยละ 6.5 เอาไว้ได้ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 ในปีที่แล้ว

- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานะทางการเงินและเศรษฐกิจลดลง 1 จุดในเดือนมีนาคม สู่ระดับ 94.0 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558

- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ร้อยละ 1.0 ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ไตรมาส 3 และร้อยละ 3.9 ในไตรมาส 2 ขณะที่ทั้งปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.4

- สำนักข่าวเกียวโตเผยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานวิจัยภาคเอกชน 15 แห่ง ที่คาดว่าความเชื่อมั่นของบรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นไตรมาสแรกปีนี้อาจย่ำแย่ลงอีก เนื่องจากสกุลเงินเยนแข็งค่าและตลาดหุ้นปรับตัวลง

- กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบเป็นรายปี และทรงตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนี CPI ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อระดับร้อยละ 2.0 ของธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของราคาพลังงาน

5. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 35.29 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.04 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 113.53 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.24 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

6. ราคาน้ำมัน


- ตลาดน้ำมันนิวยอร์กปิดทำการเนื่องในวัน Good Friday

7. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายนอยู่ที่ 171.2 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 5.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 180.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 5.0 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ราคา SICOM ปิดตลาดเนื่องในวัน Good Friday

8. ข่าว


- กลุ่มผู้นำธุรกิจ 250 รายของสหราชอาณาจักร ประกาศสนับสนุนการรณรงค์ให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (EU) ในการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน 2559

9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยในประเทศที่ปริมาณผลผลิตมีน้อย สภาพอากาศที่แล้งจัด ทำให้ผู้ประกอบการเร่งซื้อ และคาดว่าหลังจากนี้ปริมาณยางจะลดลงอีก เพราะฤดูฝนอาจจะช้ากว่าทุกปี ขณะที่ต่างประเทศยังคงเงียบ ผู้ซื้อไม่เร่งซื้อ เพราะเกรงว่าจะกระตุ้นให้ราคาสูงขึ้นอีก จึงอยู่นิ่ง ๆ รอให้ปริมาณยางเพิ่มขึ้นจึงอาจจะเข้าซื้อ ประกอบกับยังมีสต๊อคจำนวนมากโดยเฉพาะจีน

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการอ่อนค่าของเงินเยน และนักลงทุนขานรับสหรัฐฯ ปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ครั้งสุดท้ายประจำไตรมาส 4 ปี 2558 สู่ระดับขยายตัวร้อยละ 1.4 จากประมาณการครั้งที่ 2 ที่ร้อยละ 1.0 ประกอบกับอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งกระแสข่าวการรับซื้อยางที่ผลิตในประเทศของรัฐบาลอินโดนีเซียจำนวน 5 แสนตัน เพื่อสนับสนุนราคายาง ยังเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาเชิงบวกได้ในระดับหนึ่ง



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา