พลิกวิกฤตเป็นโอกาสกับยางพารา

คอลัมน์ Smart SMEs โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เผลอเดี๋ยวเดียวไตรมาสแรกของปี 2559 ก็กำลังจะผ่านไปอีกแล้วนะครับ และแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในทุกวันนี้ที่จะไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าคนไทยเราก็ยังสามารถค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนา ผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไทยแม้แต่ยางพาราที่กำลังประสบปัญหา ราคาตกต่ำไม่ถึง40 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังมีความหวังที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ปัญหาราคายางตกต่ำนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยมีการผลิตยางมากที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ปลูกยางพารา 18.85 ล้านไร่ ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินโดนีเซีย โดยในปี 2558 มีผลผลิต 4.24 ล้านตัน สามารถส่งออกได้ 3.70 ล้านตันเท่านั้น สาเหตุที่มีผลผลิตมากเกินไป เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการขยายเนื้อที่ปลูกของรัฐบาลเมื่อหลายปีก่อน บวกกับความต้องการของตลาดโลกลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ฉุดการส่งออกกระทบเป็นลูกโซ่ให้กับชาวสวนยางมียางค้างสต๊อกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ชาวสวนยางและผู้ประกอบการจะมีความพยายามนำยางไปแปรรูปเป็นสินค้าประเภทอื่น ๆ แต่ก็มีการใช้เพียง 13% ของปริมาณน้ำยางทั้งหมด และก็มีจำนวนโรงงานผลิตสินค้าในประเทศเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่ก็จะเน้นผลิตสินค้าดั้งเดิมประเภทยางยืด ถุงมือยาง ยางรัดของ ยางรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รองเท้า สายพาน ยางหล่อดอก พื้นรองเท้า ถุงยางอนามัย ท่อยาง และลูกโป่ง เท่านั้น
โดยที่ผ่านมาถือว่าประเทศไทยมีการพัฒนาต่อยอดสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราค่อนข้างน้อยดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้ คือ การบูรณาการด้านการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางแบบยั่งยืน โดยผ่านการวิจัย คิดค้นสร้างสรรค์ ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าแปลกใหม่ที่มีส่วนประกอบของยางพาราออกสู่ตลาดไทยและตลาดโลก
การคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากยางพารา โดยศูนย์อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบว่าน้ำยางพาราอุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์ สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เพื่อความงามหลายชนิด เพราะมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องสำอางเพื่อเสริมหรือรักษาสุขภาพผิวพรรณให้ขาวใส เนียน และเต่งตึงได้
นอกจากนั้น สารสกัดจากน้ำยางพารายังสามารถนำไปผลิตสบู่ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อบำรุงผิวและใช้ได้กับทุกส่วนของร่างกาย สามารถผลิตเป็นสารสกัดเพื่อการส่งออกขายยังต่างประเทศ ทดแทนการส่งออกยางพาราดิบได้เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ไม่เพียงเท่านั้น ยางพารายังสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพได้ด้วย เช่น แผ่นยางรองส้นเท้าจากยางพาราช่วยลดการปวดเมื่อย หรือแม้แต่อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านอย่างฟูก หมอน ที่นอนเด็ก สินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อสอดรับกับสังคมสมัยใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจของเอสเอ็มอี และยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหายางตกต่ำในอนาคตด้วย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสนใจจะสร้างธุรกิจ ขยายจำนวนโรงงานหรือต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ จากยางพารา พร้อมเงินทุนสนับสนุน ขอแนะนำให้เข้าไปศึกษาหาข้อมูลได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย ถือเป็นแหล่งความรู้ที่พร้อมให้บริการข้อมูลวิชาการต่าง ๆ รวมถึงมีการแนะแนวเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ด้วย
ธนาคารกรุงเทพเองก็พร้อมให้การสนับสนุน ล่าสุดเราได้เปิดเว็บไซต์เพื่อให้บริการข้อมูลในการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีแบบไม่ตกกระแส โดยให้คำแนะนำด้านการเงินแก่ลูกค้าเอสเอ็มอี และมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของธุรกิจ เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยธนาคารมีบริการสินเชื่อธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ บริการเพื่อธุรกิจนำเข้าและส่งออก บริการด้านการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจทั่วไป สินเชื่อเฉพาะธุรกิจ และสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ทันที โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
www.bangkokbanksme.comหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ