แล้งยางยืนต้นตาย-วอนประหยัดน้ำโดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 25 เม.ย. 2559 07:30
ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพารา 8 หมู่บ้านพื้นที่บ้านพะตง ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กำลังเดือดร้อนหนักจากปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงมานานส่งผลให้ต้นยางพาราอายุประมาณ 1 ปีนับร้อยต้นในพื้นที่หมู่ 3-6 ทยอยยืนต้นตาย บ่อน้ำที่มีอยู่ก็ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากน้ำในบ่อแห้งขอด นอกจากนี้กล้วยหอมทองที่ปลูกแซมยางกว่า 500 ต้น ทยอยยืนต้นตายอีกจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนจนแทบหมดตัว
นายวุฒิพงศ์ ศันสนียพฤกษ์ เกษตรกรชาวสวนยาง หมู่ 3 ต.พะตง อ.หาดใหญ่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวสวนยาง ต.พะตง ใน 8 หมู่บ้านกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้ง ตนปลูกต้นยางพาราเนื้อที่ 30 ไร่อายุประมาณ 1 ปี ต้นยางกำลังทยอยยืนต้นตาย นอกจากนี้ยังมีสวนยางพาราละแวกใกล้เคียงอีกหลายหมู่บ้านก็ประสบปัญหาเช่น เดียวกัน จึงขอวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านด้วยหรืออาจ ทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น หากภัยแล้งยังรุนแรงคาดว่าต้นยางพาราที่เหลืออยู่คงยืนต้นตายหมดแน่
จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพื้นที่ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง ที่ สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตรัง ประกาศให้เป็น 1 ใน 10 อำเภอของจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน หมู่ 1, 2 และ 4 น้ำแห้งขอดอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 30 วัน หากฝนไม่ตกลงมาหรือไม่มีน้ำมาเติมในแหล่งน้ำดิบ การประปาอาจจำเป็นต้องงดจ่ายน้ำประปาทั้ง 3 หมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้าน 400 ครอบครัว ที่ใช้น้ำประปาของ อบต.นาข้าวเสียได้รับความเดือดร้อน และเป็นภาวะแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี
นางอารี ขวัญศรีสุทธิ์ นายก อบต.นาข้าวเสีย เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการใช้ประปา 3-4 หมู่บ้าน มีประชากร 400-500 ครัวเรือน ทาง อบต.มีแผนรองรับ คือขุดลอกแหล่งน้ำ ขยายบ่อเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะหน้า อบต.นาข้าวเสียใช้ประปาอยู่ 1 แห่ง เพิ่มเป็นอีก 3 แห่ง ในท้องที่หมู่ 5, 6 และ 10 เพื่อรองรับภัยแล้งในปีหน้า นอกจากนี้ อบต.ได้รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำโดยประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย เพื่อรับกับวิกฤติขาดน้ำที่มีความรุนแรงขึ้นทุกปี.