ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดแผนกระทรวงอุตฯ กู้วิกฤตยาง 80โรงงาน เปิดซื้อน้ำยาง8แสนตัน  (อ่าน 3451 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87701
    • ดูรายละเอียด
เปิดแผนกระทรวงอุตฯ กู้วิกฤตยาง 80โรงงาน เปิดซื้อน้ำยาง8แสนตัน
updated: 01 พ.ค. 2559 เวลา 14:07:55 น.


 


รายงาน

    วิกฤตราคายางพาราในประเทศที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ชาวสวนยางไม่สามารถรับมือหรือแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะกลไกราคาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางทันที จนกระทั่งวันนี้ราคายางขยับขึ้นมาแตะที่ 60 บาท/กก.แล้ว นั่นก็เพราะมาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วนออกฤทธิ์ดี ขณะที่ "กระทรวงอุตสาหกรรม" ไม่นิ่งนอนใจ แม้จะไม่ใช่หน่วยงานหลักที่สามารถช่วยเหลือชาวสวนยางพาราระยะเร่งด่วนได้มากนัก จึงได้วางมาตรการระยะกลางและยาวรองรับไว้แล้ว

4 หน่วยงานผุดมาตรการช่วย

เป้าหมายของ 4 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้ามาช่วยเรื่องสินเชื่อยางพาราให้กับผู้ประกอบการ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ช่วยเร่งออกใบอนุญาต รง.4 เพื่อให้มีโรงงานรับซื้อยางและแปรรูปยางมากขึ้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งทำ 4 มาตรฐานยาง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมพื้นที่ลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

เริ่มที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ใช้ 2 โครงการนำร่อง คือ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยในอัตรา 5% รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557-ตุลาคม 2558 อนุมัติวงเงินสินเชื่อ 5,833 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบการ 48 โรงงาน ขอรับเงินสินเชื่อ 18 โรงงาน เป็นเงิน 1,633.3 ล้านบาท

2.โครงการเพิ่มมูลค่าและผลิตภัณฑ์ยาง/กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมยางปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 18.2 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 15.73 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 26.54 ล้านบาท ผ่าน 4 กิจกรรม ซึ่งปีนี้พัฒนา 4 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ, พัฒนาศักยภาพสถานประกอบการ 28 กิจการ, พัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางและผลิตภัณฑ์ยาง 28 กลุ่ม และพัฒนาบุคลากร 500 คน

สมอ.เร่งทำมาตรฐานยาง


ใน 223 มาตรฐานนั้น นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เร่งทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง 64 มาตรฐาน (ไม่รวมล้อยาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์), ส่วนของมาตรฐานสารเคมีในอุตสาหกรรมยาง 6 มาตรฐาน, มาตรฐานล้อยาง 11 มาตรฐาน, มาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์ 5 มาตรฐาน, วิธีทดสอบ 73 มาตรฐาน, มาตรฐานที่ปรับให้สอดรับกันภายในภูมิภาค 57 มาตรฐาน, มาตรฐานที่กำลังเสนอ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) 7 มาตรฐาน (กำหนดใหม่ 5 แก้ไข 2 มาตรฐาน)และอีก 4 มาตรฐาน ที่เร่งดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ได้แก่ 1.แอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ ยกร่างมาตรฐานตามมาตรฐานกรมทางหลวง ทล.-ม.409/2556 แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2.แผ่นพื้นสนามฟุตซอลทำจากยางพารา ยกร่างมาตรฐานเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 3.น้ำยางเคลือบผ้าสำหรับปูบ่อน้ำ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่ส่งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากนั้นเสนอให้ สมอ.นำไปร่างเป็นมาตรฐานเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เดือนพฤษภาคม 4.หมอนและที่นอนยาง คาดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม

ปัจจุบัน สมอ.กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราและประกาศใช้แล้ว 119 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานบังคับ 3 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.683-2530 ยางในรถจักรยานยนต์ มอก.969-2533 หัวนมยางสำหรับขวดนม และ มอก.1025-2539 หัวนมยางดูดเล่น มีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 208 ราย

80 โรงงานพร้อมเปิดปีนี้


แน่นอนว่ามาตรการทุกอย่างที่ออกมาจะต้องเห็นผล ปีนี้จึงได้เห็นโรงงานยางพาราพร้อมเปิด 80 โรงงาน เงินลงทุน 5,187 ล้านบาท ใช้น้ำยางสด 47,367.30 ตัน ยางก้อนถ้วย 493,960 ตัน น้ำยางข้น 1,083.60 ตัน ยางแท่ง 42,525 ตัน ยางแผ่น 208,277 ตัน รวม 793,212.90 ตัน ซึ่ง 4 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-เมษายน) มีโรงงานพร้อมเปิด 25 โรงงาน เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 261.25 ล้านบาท ปริมาณวัตถุดิบ 52,327 ตัน ในจำนวนนี้เปิดแล้ว 18 โรงงาน อาทิ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งคลองควาย ผลิตยางแผ่นรมควัน จ.พัทลุง, บริษัท เอเชียรับเบอร์เทค จำกัด ผลิตชิ้นส่วนจากยางพาราและยางสังเคราะห์ จ.ระยอง และอีก 7 โรงงาน จะเปิดในเดือนพฤษภาคม

นักลงทุนแห่ชม "รับเบอร์ซิตี้"


หลังการเดินทางไปโรดโชว์ ณ เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 8-11 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ระหว่าง กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัท แอลแอลไอที จำกัด (หลิงหลง) ผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ของจีน แสดงเจตจำนงสำหรับแผนการลงทุนเฟส 3 ในไทย โดยมีเงื่อนไขว่า 1.ให้รัฐบาลไทยต้องหาพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ เพื่อตั้งศูนย์วิจัย พัฒนา และทดสอบล้อยาง 2.ให้การส่งเสริมผู้ผลิตแม่พิมพ์ และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางพารา 3.ให้มหาวิทยาลัยชิงเต่า วิทยาลัยอาชีวะ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันพัฒนาบุคลากร ตั้งสาขาผลิตช่างเทคนิคอุตสาหกรรมล้อยางโดยเฉพาะและจากการจัดกิจกรรมสัมมนา 10 บริษัทผู้ผลิตยางของจีน มี 3 บริษัทสนใจและเตรียมลงพื้นที่ดูนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาเร็ว ๆ นี้

จีบอินเดียมาลงทุน


เป้าหมายต่อไปแผนโรดโชว์ของ กนอ. และกระทรวงอุตสาหกรรม คือประเทศอินเดีย โดยมุ่งเป้าไปคุยกับบริษัท อพอลโล่ หลังจากที่เคยสนใจมาลงทุนในไทย แต่เจอสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจึงชะลอการลงทุน

"รับเบอร์ซิตี้" ยังมีอุปสรรค


ในมุมของเอกชน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กลับมองว่า โครงการรับเบอร์ซิตี้แม้มีศักยภาพในหลายด้าน แต่ติดอุปสรรคเรื่องโลจิสติกส์ เพราะบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและล้อยางจะต้องตั้งโรงงานอยู่ใกล้โรงงานประกอบรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกไม่ใช่ภาคใต้ และจำเป็นต้องมีการก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 และท่าเรือปากบารา จ.สตูล เพื่อเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งทะเลส่งออกสินค้าไปยังภาคตะวันออกอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เชื่อมภาคตะวันตกส่งออกไปอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป และการร่วมโรดโชว์กับภาครัฐคราวนี้เพื่อหาลู่ทางดึงดูดนักลงทุนมายังนิคมไออาร์พีซี ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เนื้อที่ 2,100 ไร่

ขณะที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้เปิดโรงงานผลิตยางพาราแท่งแห่งแรกของ CP พื้นที่ 134 ไร่ อ.วังสะพุง จ.เลย งบฯลงทุน 500 ล้านบาท เฟส 1 กำลังการผลิตอยู่ที่ 3-4 หมื่นตันต่อปี และในปี 2560 เตรียมขยายโรงงานยางพาราแห่งที่ 2 จ.อุบลราชธานี เงินลงทุน 500 ล้านบาท กำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี

ปิดท้ายด้วยความสำเร็จของนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ โรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ได้จองพื้นที่ตั้งโรงงานแล้ว 2 ราย "นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม" ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เป็นโรงงานผลิตที่นอน หมอนยางพารา ของมาเลเซีย 1 ราย และของไทย 1 ราย ขณะนี้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแล้ว โรงงานสำเร็จรูปสำหรับรองรับผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs 12-18 ราย พื้นที่ 25 ไร่นั้นจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 และเซ็นสัญญาเช่าโรงงานสำเร็จรูป ระหว่าง กนอ.และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กลุ่มสหกรณ์ยางพารา จำนวน 11 ราย มูลค่าลงทุน 110 ล้านบาท แน่นอนว่าปี 2564 หากนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานตามเป้า 70 ราย จะมีมูลค่าการลงทุนถึง 8,000 ล้านบาท สามารถกู้วิกฤตยางพาราระยะยาว โดยจะซื้อยางได้ถึง 1.6 แสนตัน