ผู้เขียน หัวข้อ: "น้ำยางสด"ขาดตลาดพ่อค้าแย่งซื้อ ชาวสวนช้ำใจแล้งนานเลื่อนเปิดกรีด-แห้วราคายางดีดขึ้น  (อ่าน 910 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87756
    • ดูรายละเอียด
"น้ำยางสด"ขาดตลาดพ่อค้าแย่งซื้อ ชาวสวนช้ำใจแล้งนานเลื่อนเปิดกรีด-แห้วราคายางดีดขึ้น

updated: 27 พ.ค. 2559 เวลา 08:45:14 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



 น้ำยางสดขาดตลาดหนัก หลังภัยแล้งถล่มนานกว่าครึ่งปี พ่อค้า-ผู้ส่งออก-โรงงานแปรรูปยางปักษ์ใต้บุกเมืองเหนือ-อีสาน วิ่งพล่านหาซื้อน้ำยางสด ชาวสวนทั่วไทยโอดยางราคาดีแต่ไม่มีของขาย เลื่อนเปิดหน้ายางช้ากว่าทุกปี หลังฝนทั้งช่วงนานกว่าปกติ ด้านเกษตรกรตะวันออก ถอดใจโค่นสวนทิ้งปลูกทุเรียนแทน ปักษ์ใต้เปิดหน้ายางช้ากว่าทุกปี
 
นายพนัส แพชนะ ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ฝนเริ่มตกในหลายพื้นที่ของภาคใต้ แต่ในช่วงสัปดาห์นี้จะยังไม่มียางเข้าสู่ตลาดเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดู เพราะหลังจากมีฝนตกลงมา เกษตรกรจะเปิดหน้ายางแต่เป็นการกรีดยางทิ้งไปก่อน หรือกรีดแล้วทำเป็นเศษยาง กระทั่งเปลือกยางมีความอ่อนตัวลง จึงจะกรีดเอาน้ำยาง และแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันต่อไป

"คาดการณ์ว่าในฤดูกาลผลิตนี้ ปริมาณยางจะลดลง 10-20% เนื่องจากภาวะแล้งยาวนานกว่าทุกปี ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาวะราคายางตกต่ำ ทำให้เกษตรกรไม่ได้บำรุง หรือใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางอย่างเต็มที่ หรือใส่ปุ๋ยน้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตในปีถัดมาไม่ดีเท่าที่ควร โดยปกติ ตลาดกลางยางพารา จะปิดในช่วงที่เกษตรกรปิดกรีด และจะมียางเข้าตลาด หลังเปิดกรีดประมาณวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี แต่ในปีนี้ตลาดกลางหยุดรับซื้อนานที่สุดตั้งแต่เปิดตลาดกลางมา และยังไม่มียางเข้าสู่ตลาด คงต้องรออีกประมาณ 1 สัปดาห์ คาดว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน จะเริ่มมียางเข้าสู่ตลาด




สำหรับราคายางในปีนี้ คาดว่าจะยังทรงตัว แต่ในช่วงต้นฤดูเปิดกรีด จะมีความต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะน้ำยางสด ซึ่งโรงงานมีความต้องการใช้มาก เนื่องจากน้ำยางสดไม่สามารถเก็บสต๊อกได้นาน เท่ากับยางแปรรูปอื่น ๆ และเมื่อเกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ตามกำหนดเวลาเดิม ความต้องการน้ำยางสดก็จะสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน โรงงานแปรรูปยาง ก็ต้องการน้ำยางเข้าสู่กระบวนการแปรรูปด้วยเช่นกัน ตลาดจึงมีความต้องการน้ำยางสูงขึ้น และจะส่งผลให้ราคาน้ำยางในช่วงต้นฤดูกาลผลิตนี้สูงขึ้น และอาจจะสูงกว่า ยางแผ่นดิบ ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด

นายชำนาญ เมฆตรง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคม- พฤษภาคม 2559 ปริมาณน้ำยางในภาคใต้หดหายไปมาก 50-80% สาเหตุมาจากปัญหาแล้งจัดต่อเนื่องหลายเดือน และผลจากโครงการโค่นยางเก่าสงเคราะห์ใหม่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งโค่นยางทิ้งเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน

ด้านนายสมพร ดียวง ประธานเครือข่ายชาวสวนยางอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง และนายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี จ.สงขลา ประเมินว่า ภาพรวมทั้งประเทศปริมาณน้ำยางจะหายไป 50-60% เพราะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสานจะรุนแรงมากกว่าภาคใต้ ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกยางแน่นอน หากฝนตกลงมาจะเปิดกรีดเต็มพื้นที่ได้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้



พ่อค้าภาคใต้บุกเหนือซื้อยางตุน

ขณะที่นายสวัสดิ์ลาดปาละประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบสวนยางภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดลำปางมีพื้นที่ปลูกยางราว 6 หมื่นไร่ ได้รับความเสียหายมาก คุณภาพน้ำยางลดลง ผลผลิตจะมีปริมาณน้อย สวนทางกับราคายางที่ดีขึ้น ตลาดต้องการมาก แต่ชาวสวนไม่มีผลผลิตจะขาย และภัยแล้งยังทำให้การเปิดกรีดยางล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งปกติช่วงเดือนพฤษภาคมจะเริ่มเปิดกรีดยางได้แล้ว ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้มหาศาล กำลังซื้อลดลง ปัจจุบันมีพื้นที่เปิดกรีดยางได้เพียง 1% ของพื้นที่ปลูกยางภาคเหนือทั้งหมดประมาณ 1.2 ล้านไร่

ปัจจุบันมีพ่อค้าจากภาคใต้มารับซื้อน้ำยางสดถึงหน้าสวน ในราคา 60 บาท /กก. โดยรับซื้อปริมาณไม่จำกัด แต่เนื่องจากภัยแล้งส่งผลกระทบสวนยางพาราหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้น้ำยางออกสู่ตลาดน้อย

ตะวันออกโค่นยางทิ้งปลูกทุเรียน

นายนิวัฒน์ พ้นชั่ว ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดระยองโค่นต้นยางทิ้งไปแล้ว 20% จากพื้นที่ทั้งหมด 700,000 ไร่ และหันมาปลูกทุเรียนแทน เพราะแนวโน้มราคาดีกว่า ขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำยางสดขยับจาก 3 โล 100 ขึ้นมาอยู่ที่ 60 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอรับได้ แต่ก็มาประสบปัญหาภัยแล้ง ต้นยางให้ปริมาณน้ำยางน้อยลง

ด้านนายนวรานนท์ อนัณวรณกรณ์ อุปนายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ปีนี้ชาวสวนยางพาราในภาคตะวันออก ได้โค่นสวนยางทิ้งประมาณ 5-10% จากพื้นที่ปลูกยางกว่า 2 ล้านไร่ หันมาปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน หรือพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ขณะเดียวกันผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งยังทำให้ภาคตะวันออกกรีดยางล่าช้าออกไปกว่า 1 เดือน โดยเลื่อนออกไปถึงเดือนพฤษภาคม จากปกติจะเริ่มเปิดกรีดในเดือนเมษายน

"คาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำยางสดทั้งภูมิภาคในปีนี้เหลือเพียง 3 แสนตัน/ปี ลดลงจากเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อนที่มีปริมาณน้ำยางอยู่ที่ 4 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะค่าจ้างการกรีดไม่จูงใจ ทำให้แรงงานย้ายเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม และภาคก่อสร้างมากขึ้น โดยแรงงานหายไปประมาณ 10%"


ด้านนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬมีสวนยางพารา 1,200,000 ไร่ พื้นที่เปิดกรีดได้แล้ว 80% ปริมาณน้ำยาง 200,000 ตัน/ปี ภัยแล้งกระทบบ้าง แต่ไม่มากเพราะบึงกาฬเป็นแหล่งชุ่มน้ำและมีฝนตกบ้าง หากภัยแล้งส่งผลกระทบจะทำให้ผลผลิตลดลงไม่เกิน 10% ส่วนราคายางก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ



อีสาน-เหนือน้ำยางลดลง 50%

นายวิชาญ โคตรจันทร์อุด ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเลย กล่าวว่า ปริมาณน้ำยางพาราออกสู่ตลาดลดลงจากปีที่ผ่านมา 50% เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ยังไม่มีการโค่นต้นยางมากนัก จะเริ่มเปิดกรีด 1-2 เดือนข้างหน้า 10-20% ของพื้นที่ คาดว่าจะทำให้มีปริมาณน้ำยางเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้จังหวัดเลยมีโรงงานแปรรูปยางพาราของเอกชน 2 แห่ง จากการสำรวจพบว่ามีการแย่งชิงเกษตรกรมาก และกังวลว่าสวนยางพาราในโครงการปลูกยางล้านไร่บางแห่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งในอนาคตหากมีการตรวจสอบว่าผิดจริงก็อาจถูกโค่นได้

สำหรับสถานการณ์ในภาคเหนือ นายธัญญะ สมสุข ผู้อำนวยการ สำนักการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคเหนือ กล่าวว่า ภัยแล้งที่รุนแรงปีนี้ ส่งผลกระทบต่อสวนยางในเขตภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ความเสียหายขณะนี้พบว่า สวนยางราว 2,000 ไร่ในพื้นที่จังหวัดตาก ลำปาง แพร่ พิษณุโลก ใบยางร่วงเปลือก/ลำต้นเปราะ และแห้งตาย โดยได้สั่งการให้ทุกพื้นสำรวจจำนวนสวนยางที่เสียหายเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร

สำหรับภาคเหนือ จะเริ่มกรีดยางประมาณต้นเดือนมิถุนายน แต่เนื่องจากภัยแล้งลุกลามหนัก คาดว่าปริมาณผลผลิตยางในปี 2559 จะลดลงประมาณ 15% ซึ่งผลผลิตมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่จะมีสูงขึ้น ขณะที่เกษตรกรก็เริ่มเปลี่ยนจากการปลูกยางมาลงทุนปลูกลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน และไม้สัก

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยความแห้งแล้งมีแนวโน้มว่าเกษตรกรจะปรับไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว เช่น ไม้ผล ซึ่งถือเป็นการเสียโอกาสในการทำสวนยาง ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมของตลาดยางยังมีแนวโน้มที่ดีมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา

นายฤกษ์ชัย ชูชื่น หัวหน้ากองวิชาการ สำนักการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่สวนยางพาราในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,229,615 ไร่ ปี 2558 มีผลผลิตรวม 109,623 ตัน ส่วนใหญ่ผลผลิตยาง 99% จะทำเป็นยางก้อนถ้วย คิดเป็นมูลค่า 2,192 ล้านบาท/ปี ซึ่งปีนี้ผลผลิตจะลดลง 15% สูญรายได้ประมาณ 328 ล้านบาท



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat