ผู้เขียน หัวข้อ: โอกาสยางพาราจีนกับอาเซียน : ไทยหรือเวียดนาม? (17/06/2559)  (อ่าน 1295 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87701
    • ดูรายละเอียด
โอกาสยางพาราจีนกับอาเซียน : ไทยหรือเวียดนาม? (17/06/2559)

โดย...ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช


  โอกาสยางพาราจีนกับอาเซียน : ไทยหรือเวียดนาม? (17/06/2559)


ผมเขียนบทความนี้ที่โรงแรม Hobo Hotel ที่นครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน และที่โรงแรม International Hotel เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน เพื่อเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมของประเทศจีนที่มีศักยภาพและสามารถเชื่อมโยงกับ อุตสาหกรรมของไทยได้ คือ ยางพารา อาหาร และเสื้อผ้า

การมาจีนครั้งนี้ผมเก็บข้อมูลใน 3 มณฑลของจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลเจ้อเจียง ผมอยู่ประเทศจีนระหว่างวันที่ 21-25 มี.ค. 2559 การเดินทางครั้งนี้ผมร่วมเดินทางกับสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (สท.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้โครงการวิจัยที่ชื่อว่า "โครงการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศจีนรายมณฑล) ระยะที่ 2"

โดยมณฑลกวางตุ้งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน ประกอบด้วย 9 เมืองที่สำคัญๆ คือ Guangzhou, Shenzhen, Dongguan, Zhuhai, Zhongshan, Zhanjiang, Qingyuan, Shantou และ Shaoguan มีขนาดทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ปี 2558 มีจีดีพี เท่ากับ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่าตัว และมีขนาดใหญ่คิดเป็น 11% ของจีดีพีจีน ปี 2558 มีประชากรรวม 107 ล้านคน

ที่นครกว่างโจวผมมีโอกาสได้คุยกับนาย Wei Chang Yi กรรมการผู้จัดการ บริษัท Guangzhou Wuhua Rubber เป็นบริษัทนำเข้ายางพาราจากประเทศไทย โดยส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูปที่มณฑลซานตง ประเทศจีนนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยปีละ 2.4 ล้านตัน คำถามที่สำคัญที่ผมถามคุณ Wei Chang Yi มีความสนใจลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในประเทศไทยหรือไม่ เขาตอบว่ามีความสนใจมาก โดยเฉพาะใน "Rubber City" ที่ จ.สงขลา และมีบริษัทจีนมีแผนที่จะเข้ามาลงทุนอย่างน้อย 3 บริษัท แต่สิ่งที่นักธุรกิจจีนกังวลคือใน 100% ของการผลิตล้อรถยนต์นั้น ประเทศไทยมีแต่วัตถุดิบยางพาราอย่างเดียว ส่วนวัตถุดิบอย่างอื่นหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ต้องนำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด ตรงนี้ทำให้นักธุรกิจจีนมีความลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

ตรงนี้เองผมอยากเสนอว่าให้ระวังการขยับไปลงทุนอุตสาหกรรมยางพารา ของจีนในประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพราะประเทศเหล่านี้ได้เปรียบประเทศไทยในหลายๆเรื่อง เช่น การได้รับสิทธิจีเอสพี และที่สำคัญสำหรับเวียดนามคือการเป็นสมาชิกของทีพีพีที่สหรัฐเป็นหัวขบวน ซึ่งปัจจัยการเข้าร่วมทีพีพีของเวียดนามมีผลต่อการตัดสินการลงทุนของประเทศ จีนในอาเซียนอย่างมาก

นอกจากนี้ ประเด็นต้นทุนการทำธุรกิจในประเทศซีแอลเอ็มวีก็ถูกกว่าอีกหลายๆ ประเทศในอาเซียน ผมคิดว่าในอนาคตการลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราของจีนในเวียดนามคงเกิดขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้ถือว่าเวียดนามก็สามารถผลิตล้อรถจักรยานยนต์ ล้อรถมอเตอร์ไซค์ ล้อรถยนต์ และล้อรถบรรทุก เช่น กรณีของล้อยางยี่ห้อ "Casumina" ซึ่งบริษัทผลิตยางของเวียดนามร่วมทุนกับบริษัท Yokohoma กับบริษัท Mitsubishi เพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ส่งออกขายในอาเซียน

สำหรับอนาคตอุตสาหกรรมยางพาราของจีนจะไปในทิศทางใด จีนจะหันมาผลิตล้อเครื่องบินจะเป็นตัวหลักหรือไม่ ผมได้รับคำตอบว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิตล้อเครื่องบินอยู่ 2 โรงตั้งอยู่ในมณฑลกว่างซี และมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งเป็นของทหารมีการนำเข้ายางพารามาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะสเปกยางตรงกับของโรงงาน อนาคตจีนยังคงผลิตเน้นล้อรถยนต์อยู่ เพราะปัจจุบันการผลิตล้อรถยนต์ยังเจอปัญหาในตลาดโลกยังต้องแก้ปัญหากันต่อไป (จากการที่จีนส่งล้อรถยนต์เข้าไปในสหรัฐมากและราคาถูกด้วย ทำให้ขณะนี้จีนมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดโดยการเจอกำแพงภาษีที่สูงจากตลาด สหรัฐ) และนี่เองที่ทำให้จีนต้องการเข้าไปตั้งฐานการผลิตล้อรถยนต์ในประเทศไทยและอา เซียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยหลายๆ ด้าน พบว่าโอกาสที่ไทยกับจีนจะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราหลักๆ คือ อุตสาหกรรมล้อรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเครื่องมือทางการแพทย์ ในระยะสั้นไทยน่าจะมีความพร้อมมากกว่าเวียดนาม

เราต้องรีบคว้าโอกาสโดยเร็วครับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (วันที่ 16 มิถุนายน 2559)