ผู้เขียน หัวข้อ: การส่งออกรายสินค้า พ.ค.2560 พบว่า สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้น 17.6%  (อ่าน 801 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82023
    • ดูรายละเอียด
การส่งออกรายสินค้า พ.ค.2560 พบว่า สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้น 17.6%

ที่มา คมชัดลึก 23/6/60

กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกไทยเดือนพ.ค. มีมูลค่ารวม 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 52 เดือน และทำให้การส่งออกช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวที่ 7.2% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

ส่วนการนำเข้าเดือนพ.ค. มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.6% ทำให้ไทยมียอดเกินดุลการค้าในเดือนพ.ค. กว่า 944 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าช่วง 5 เดือนแรก เติบโตขึ้น 15.24% และมียอดเกินดุลการค้ารวม 5,053.6 ล้านดอลลาร์
 
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค.ที่ขยายตัวถึง 13.2% นั้น ถือว่าสูงกว่าที่ ธปท. ได้คาดการณ์ไว้พอสมควร ทำให้ ธปท. อาจต้องทบทวนคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ใหม่ โดยปรับขึ้นจากประมาณการเดิมที่ประเมินไว้ที่ 2.2% เพราะตัวเลขนี้ ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง

?ตัวเลข 2.2% ดูจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำไป เราอยู่ระหว่างการทบทวน ซึ่งกำลังรอดูรายละเอียดจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนล่าสุด เพื่อมาประกอบการพิจารณา?

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในการขับเคลื่อนงานทางด้านเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลล่าสุดเศรษฐกิจขยายตัวได้ที่3.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าทั้งปีเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.5% หรือสูงกว่า เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ส่งออกของไทยถ้าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมาก เชื่อว่าอัตราการขยายตัวของส่งออกจะเติบโตได้ต่อเนื่อง

ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับไม่เกิน 45% ถือว่ามีเสถียรภาพท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยตลอด 3 ปี ขณะที่ ตลาดทุนก็เติบโตต่อเนื่อง ช่วงปี 2554-59 กำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนอยู่7% ไตรมาสแรกที่ผ่านมากำไร 3 แสนล้านบาท เติบโต 21% ตลาดมีขนาด 122% ของจีดีพี

?ประเทศไทยยังต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกไปสู่การสร้างสมดุลทาง ระหว่างการเติบโตโดยอาศัยปัจจัยภายนอกคือการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยว มาเติบโตได้จากภายในทั้งการผลิต การตลาด การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในภูมิภาคและท้องถิ่น?นายสมคิดกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่ทำให้การส่งออกเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวสูงสุดในรอบ 52 เดือนนั้น เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะมูลค่าการค้าโลกในเดือน เม.ย.2560 พบว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการค้าโลก ที่กลับมามีความแข็งแรงมากขึ้น

อีกทั้งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ยังขยายตัวตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ และขยายตัวสูงในทุกกลุ่มสินค้า
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สะท้อนทิศทางที่ดีของภาคการผลิตและบริการ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในระยะต่อไป โดยกระทรวงยังคงเป้าส่งออกปีนี้ไว้ที่ 5% แต่อย่างไรก็ดีต้องจับตาดูปัจจัยลบจากราคาน้ำมัน และค่าเงินที่ผันผวน

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนในนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีกับสินค้าเหล็กออกมา รวมถึงต้องติดตามนโยบายดอกเบี้ยของประเทศคู่ค้าสำคัญ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) และความไม่สงบในบางประเทศที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ส่วนประเด็นของเงินบาทแข็งค่า มั่นใจว่าจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับมือได้ แต่ผู้ประกอบการก็ควรทำประกันความเสี่ยงด้วย

อย่างไรก็ตาม สนค. ประมาณการณ์ค่าบาทที่ประเมินไว้ต่อการส่งออกเติบโต 5% ไว้อยู่ที่ระดับ 35.5 บาท/ดอลลาร์ ส่วนน้ำมันประเมินกรอบ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล อีกทั้งหากไทยจะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวตามเป้าหมายดังกล่าวนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ (มิ.ย. ? ธ.ค.2560) การส่งออกจะต้องมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือรวม 1.32 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกรายสินค้า พ.ค.2560 พบว่า สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร ส่งออกเพิ่มขึ้น 17.6% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว เพิ่ม 1.9% ยางพารา เพิ่ม 44.7% เว้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลง 14% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกเพิ่ม 12.8% เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 12.5% และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่ม 24.2% เว้นอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกลดลง 42.4% ซึ่งต้องไปหาสาเหตุของการลดลงในกลุ่มอัญมณีในทุกตลาด
ด้านตลาดส่งออก พ.ค. 2560 พบว่า ตลาดหลักส่งออกเพิ่ม 15.2% ได้แก่ สหรัฐ เพิ่ม 8.8% ญี่ปุ่น เพิ่ม 25.7% สหภาพยุโรป (15) เพิ่ม 13.2% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 20% ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 14.3% แบ่งเป็น อาเซียนเดิม (5) เพิ่ม 14.2% ซีแอลเอ็มวี เพิ่ม 14.3% จีน เพิ่ม 28.3% อินเดีย เพิ่ม 19.8% ฮ่องกง เพิ่ม 30.3% ตลาดศักยภาพรอง เพิ่ม 6.3% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 2.3% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 11.7% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 13.5% กลุ่มซีไอเอสและรัสเซีย เพิ่ม 60.6% เว้น แอฟริกา ลด 6.1% ตลาดอื่นๆ ลด 62.7% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 70.7%

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ค่อนข้างเซอร์ไพร์สกับตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนพ.ค. และทำให้ธนาคารมีมุมมองในเชิงบวกต่อการส่งออกที่มากขึ้น โดยธนาคารอาจปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกไทยในปีนี้ใหม่ จากปัจจุบันที่มองว่าจะเติบโตได้ 3%
?ตัวเลขออกมาดูดีมาก โดยเดือนนี้เติบโตจากทั้งราคาและปริมาณ อีกทั้งสินค้าที่ส่งออกก็กระจายตัวมากขึ้น รวมถึงตลาดส่งออกก็กระจายตัวมากขึ้นด้วย สิ่งที่เราจะดูต่อ คือ การส่งออกที่เริ่มดีขึ้นชัดเจน จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนที่หวังกันมานาน จะกลับมาในครึ่งปีหลังหรือไม่ ซึ่งถ้าดึงการลงทุนให้กลับมาได้ ก็คิดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้มากกว่าที่เราประเมินไว้ที่ 3.4% ได้เช่นกัน?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2017, 09:20:37 AM โดย Rakayang.Com »