ผู้เขียน หัวข้อ: ยำใหญ่ประเด็นยางร้อนๆ  (อ่าน 820 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82291
    • ดูรายละเอียด
ยำใหญ่ประเด็นยางร้อนๆ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2018, 09:39:47 AM »
คอลัมน์: ส่อง...เกษตร: ยำใหญ่ประเด็นยางร้อนๆ

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- พุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 00:00:33 น.
สาโรช บุญแสง


ในภาพอาจจะมี อาหาร
 
ช่วงนี้มีข่าวสารการเคลื่อนไหวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหา"ยางพารา"ร้อนๆขึ้นมาหลากหลายประเด็น ที่ต้องจับตากันใกล้ชิด
 
ประเด็นแรกและเป็นประเด็นสำคัญยิ่งในความรู้สึกชาวสวนยางฯทั้งหลาย ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องความพยายามของภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เร่งหาทาง "ยกระดับราคา"ยางพาราให้สูงขึ้น ด้วยราคาปัจจุบันยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทำให้เกษตรกรเดือดเนื้อร้อนใจมาก


ทีมรัฐมนตรีเกษตรฯนำโดยรมว.กฤษฎา บุญราช ตั้งแต่เริ่มงานเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นมา ได้ประกาศไว้ว่า "ภายใน 3 เดือน"จะยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่กำลังตกต่ำ ให้ขยับสูงขึ้นให้ได้ ซึ่ง "ยางพารา"ก็เป็นตัวหนึ่ง ตอนนี้เกือบ 3 เดือนแล้ว ราคายางฯในวันนี้ ก็ยังทรงๆอยู่ในระดับกก.ละ 40 ต้นๆ ยังห่างเป้าหมายที่หวังจะได้กันอย่างน้อยกก.ละ 65 บาท
 
แต่ก็เห็นความพยายามอย่างมากของรมว.กฤษฎาที่"ลุย"งานเต็มที่ ใช้ไปหลายมาตรการแล้ว เช่น จับมือกัน 3  ประเทศผู้ผลิตตกลงลดส่งออกยาง 3.5 แสนตัน ช่วงม.ค.ถึงมี.ค.เร่งรัดหน่วยงานรัฐให้เพิ่มการใช้ยางในประเทศตามมติครม. เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เดินหน้าไปพบกลุ่มชาวสวนยางภาคต่างๆตลอดจน ไล่บี้การยางแห่งประเทศไทยให้เร่งมือทำงาน ฯลฯ รมว.กฤษฎาให้สัมภาษณ์ไม่กี่วันก่อนเชื่อว่า ช่วงหลังตรุษจีนนี้ไป ราคายางในประเทศมีโอกาสขยับสูงขึ้นกว่ากก.ละ 50 บาท ด้วยหลายมาตรการที่ทำไปเริ่มได้ผล ขณะที่จีนเริ่มกลับมาซื้อยางเพิ่ม อีกทั้งหลายพื้นที่ของไทยก็ปิดการกรีดยางด้วย
 
และนอกจากมาตรการเดิมแล้ว ตอนนี้กำลังเร่งผลักดันมาตรการเพิ่มเช่น การปรับพื้นที่ปลูกยาง 7 แสนไร่ ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ทั้งกำลังผลักดันความคิดจะให้สวนยาง 2 ล้านไร่ จากทั้งหมด 24 ล้านไร่ ทั่วประเทศให้หยุดกรีดยาง 3 เดือนช่วง พ.ค.ถึงก.ค. โดยรัฐ จะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 1,500 บาท เพื่อลดปริมาณผลผลิตยางในประเทศที่ตอนนี้สูงถึง 4.5 ล้านตันให้เหลือ 4 ล้านตัน โดยหวังสูงว่า ถ้าทำได้ มีโอกาสจะดันราคายางในประเทศขึ้นไปถึงกก.ละ 80 บาททีเดียว!
 
เห็นภาพความตั้งใจทำงาน อีกทั้งได้เข้าหากลุ่มชาวสวนยางต่างๆอย่างถึงลูกถึงคน จึงไม่แปลกใจที่ช่วงนี้ ชาวสวนยางต่างสงบนิ่งรอดู ไม่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันอะไรนัก ถือเป็นการให้โอกาสได้ทำงานเต็มที่...ฉะนั้น ก็รอดูกันต่ออีกสักพัก
 
เรื่อง"ยาง"อีกประเด็นหนึ่ง ก็เป็นเรื่อง การทำงาน ของกยท.การยางแห่งประเทศไทยซึ่งตอนนี้นอกจากจะ ถูกรมว.กฤษฎา"บี้"หนักแล้ว ยังมีปัญหาภายในองค์กรเองด้วย
 
ในการที่รมว.กฤษฎาไปพบกลุ่มชาวสวนยางภาคต่างๆ ดูเหมือน กยท.ตกเป็นเป้า"ยำใหญ่"ตลอด ล่าสุดที่พิษณุโลก ชาวสวนยางภาคเหนือร้องเรียนทั้งเรื่องที่กยท.ไม่ซื้อยางจากสถาบันเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนปุ๋ย กยท.จำหน่ายให้ไม่ตรงสูตรและแพงกว่าที่เกษตรกรไปซื้อเอง ซึ่งกฤษฎาถึงกับพูดว่า ที่ไปฟังมาแต่ละภาค ไม่มีที่ไหนชื่นชมการทำงานของกยท.เลย มีแต่ร้องเรียนเรื่องต่างๆโดยเฉพาะเรื่องปุ๋ย...แม้ไม่ได้ คาดโทษผู้บริหารอย่างรุนแรง แต่ก็ตำหนิอยู่ไม่น้อย ทั้งจี้ให้เร่งปรับปรุงการทำงานด้วย
 
นอกจากนั้น กยท.เองก็กำลังมีปัญหาภายในถูกสหภาพแรงงานฯเคลื่อนไหวคัดค้านการที่ผู้บริหารมี โครงการให้เอกชนจ้างเหมาติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ พร้อมจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยาง(เงินเซส)ในลักษณะเทิร์นคีย์ ซึ่งเรื่องนี้รมว.กฤษฎาสั่งให้บอร์ด กยท.ตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งเร่งสอบหาคนผิด กรณีที่เงินเซสมีการรั่วไหลปีละนับพันล้านบาทด้วย
 
นับเป็นแรงกดดันต่อผู้ว่าฯกยท.ที่ชื่อ"ธีธัช สุขสะอาด"อีกครั้ง หลังจากเคยถูกถล่มมาหลายรอบจากชาวสวนยางกลุ่มต่างๆ ก็ต้องดูต่อไปว่า จะรักษาตัวรอดได้ตลอดรอดฝั่งอีกหรือไม่
 
เรื่องสุดท้ายคือ"ค่าโง่กล้ายาง"ที่กรมวิชาการเกษตรแพ้คดีเอกชนกลุ่มซีพี ถูกตัดสินให้จ่ายเงินต้น 287 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยแล้วรวมเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท...สรุปความสั้นๆ เรื่องนี้เป็นผลจากโครงการฉาว"กล้ายาง 1 ล้านไร่"ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่มีเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯช่วงนั้นเป็นเจ้าของโครงการ และมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรชื่อ"ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์"เป็นผู้เซ็นสัญญากับซีพี ทั้งเป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวที่ถูกตรวจสอบทุจริตหลังรัฐบาลทักษิณถูกทหารยึดอำนาจเมื่อปี 2549
 
"ค่าโง่"ครั้งนี้จึงจัดเป็นอีก 1 มรดกบาปที่ยังไม่หมดฤทธิ์ ได้แต่หวังว่า จะเป็นบทเรียนอย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำรอยอีก ซึ่งสำหรับ"ไทยแลนด์โอนลี่" ดูเหมือนจะหวังยากจัง เพราะเรื่องทำนองนี้ช่างเกิดแล้วเกิดอีก ไม่รู้จบซะที

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 21, 2018, 09:51:27 AM โดย Rakayang.Com »