ผู้เขียน หัวข้อ: ฟื้น'นาร้าง'ที่อำเภอแว้งทางรอดยุคราคายางตกต่ำ  (อ่าน 529 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82354
    • ดูรายละเอียด
ฟื้น'นาร้าง'ที่อำเภอแว้งทางรอดยุคราคายางตกต่ำ


หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 23 เมษายน 2561 00:00:06 น.
 
""ยางพารา" ไม่ใช่พืชท้องถิ่น ดั้งเดิมของไทยหรือแม้แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หากแต่ต้นกำเนิดนั้นไกลคนละซีกโลก โดยอยู่ในแถบลาตินอเมริกา (ทวีปอเมริกากลาง-อเมริกาใต้) ชื่อ "ยาง พารา" ก็เป็นการแปลทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า "พารา รับเบอร์" (Para Rubber) โดยเรียกตามแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงคือ "ปารา" (Para-ปัจจุบัน เป็นมลรัฐทางตอนเหนือในประเทศบราซิล) ก่อนจะมีการนำออกไปปลูกในภูมิภาคอื่นๆ ในเวลาต่อมา สำหรับประเทศไทย ระบุว่าเริ่มปลูกในปี 2442 โดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ณ อ.กันตัง จ.ตรัง


อนึ่ง..นอกจากยางพาราแล้ว พืชที่กลายมาเป็นเครื่องปรุงที่ขาด ไม่ได้ในอาหารไทยอย่าง "พริก" (Chilli) ก็มีต้นกำเนิดในแถบลาตินอเมริกาเช่นกัน โดยคาดว่าเข้ามาในเอเชียราวปี 2143 ซึ่งตรงกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยอาณาจักรอยุธยา (ข้อมูลจาก : "ประวัติการปลูกยางพาราของประเทศไทย" โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.-องค์การมหาชน), "พริก "เผ็ดจริงๆ เลยนะตัวแค่เนี้ย"" โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค-TK Park))"
 
"ยางพารา" พืชที่เป็นสัญลักษณ์ ของ ภาคใต้ มานานหลายทศวรรษ ทว่าไม่กี่ปีล่าสุด "ราคาผลผลิตยางตกต่ำ" และยังไม่รู้ว่าจะกลับมาดีขึ้น เมื่อใด จนมีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ ปัญหาแม้ปัจจุบันด้วยความเป็นรัฐบาล ทหารการชุมนุมประท้วงจะทำได้อย่าง จำกัดก็ตาม ซึ่งลำพังจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ เจอวิกฤติเช่นนี้ก็ว่าหนักแล้ว ยิ่งเป็น "3 จังหวัดชายแดนใต้ : ปัตตานียะลา-นราธิวาส" ที่ลำพังก็มีปัญหาความไม่สงบ ผู้คนไม่กล้าเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่แล้ว วิกฤติราคาสินค้าเกษตรก็ยิ่งทำให้มีผลกระทบเป็นทวีคูณ
 
ถึงกระนั้นก็มีความพยายามแสวงหา "ทางรอด" ในยุคพืชหลักของชาวใต้ราคา "ดิ่งเหว" เช่นนี้ อย่างกรณีของ "อำเภอแว้ง" ในจังหวัดนราธิวาส ประชาชนในพื้นที่เริ่มหันกลับไป "ฟื้นฟูการปลูกข้าว" หลังละทิ้งมานานหลายปี โดย มูฮำหมัด บิง ผู้อำนวยการโรงเรียนชาวนาบ้านละหา เล่าว่า เมื่อปี 2548 ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ดือเลาะ สะอะมีความกังวล หลังจากที่เห็นพื้นที่นาลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะก่อนหน้านั้น ชาวบ้านต่างทิ้งนาไปทำสวนยาง กันหมด
 
ประกอบกับในปี 2547 ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ ทำให้เป็นห่วงว่าลูกหลานจะขาดแคลนอาหารเหมือนในอดีตที่รัฐบาลเคยจำกัดการซื้อขายข้าวในพื้นที่ให้ครอบครัวละ 5 กิโล เพราะเกรงกลัวผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ ทำให้วงเสวนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน เช่น หลังการละหมาดหรือตามร้านน้ำชา มีการพูดกันเสมอๆ ว่า "ยางคือลูกเลี้ยง..ข้าวคือลูกแท้" ในที่สุดก็เห็นว่าควรจะต้องฟื้นนาร้างกลับมา จึงเริ่มชักชวนชาวนาในหมู่บ้านประมาณ 7-8 คน ฟื้นนาร้าง ที่มีอยู่เกือบ 200 ไร่
 
มูฮำหมัด เล่าต่อไปว่า การเริ่มต้นทำนาครั้งแรกจึงเกิดขึ้นในปี 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนและภาครัฐคือเกษตรอำเภอ ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 35 (ฉก.นราธิวาส35) และสำนักสนับสนุน สุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้มาทำโรงเรียนชาวนา สร้างโรงสีข้าวและอุปกรณ์ในการทำนา แม้ช่วงแรกๆ จะยากในการหาสมาชิกเพิ่ม แต่ต่อมาก็สามารถสร้างการเรียนรู้ จนเพิ่มสมาชิกชาวนาจากเดิม 7-8 ครัวเรือนมาเป็น 13 ครัวเรือนใน 1 ปี และในปัจจุบันมีสมาชิกชาวนาเพิ่มมากขึ้น 35 ครอบครัว
 
ไม่เฉพาะการมีอาหารที่พอเพียงและมีรายได้พอยังชีพเท่านั้น แต่ "สุขภาพต้องดีด้วย" มูฮำหมัด ระบุว่า เคยมีการตรวจสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่ แล้วพบว่า "มีสารเคมีตกค้างในเลือดสูง" การฟื้นนาร้างในครั้งนี้จึงตั้งเป้าว่า "ต้องทำด้วยเกษตรอินทรีย์" ดังนั้นจึงเป็นการทำนาที่ได้มากกว่าข้าวเพราะได้สุขภาพที่ดีกลับมา ได้วิถีดั้งเดิมเพราะในนายังมีปลาให้จับมากินเป็นอาหารเพิ่มมากขึ้นด้วย
 
"การสร้างอาหารในชุมชนถือเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน วันนี้ราคายางพาราตกต่ำให้ชาวชุมชนหันมาสนใจที่จะฟื้นนาร้างมากขึ้น จากเดิมที่ฟื้นนาร้างแค่ชุมชนละหาน ตอนนี้ ขยายร่วมกัน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.โล๊ะจูด ต.แว้ง ต.เอราวัณ ต.ฆอเลาะ ต.แม่ดง ต.กายูคละ เป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น น่าอยู่อำเภอแว้ง ตั้งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคงทางอาหาร โดยจะร่วมกันฟื้นนาร้าง 200 ไร่ ร่วมกัน" มูฮำหมัด กล่าวขณะที่ จุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แว้ง กล่าวว่า การปฏิญญาร่วมกันในการฟื้นนาร้างของชาวชุมชน 6 ตำบล ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะชุมชนหันกลับมาสร้างแหล่งอาหารของตัวเอง จากเดิมที่เคยเป็นวิถีเก่าๆ ซึ่งในอดีตเคยมีทุ่งนากว้างขวางตอนนี้กลายเป็นสวนยาง ชาวนาส่วนใหญ่ก็ซื้อข้าวกิน การกลับมาทำนาใหม่โดยเฉพาะการ ทำนาอินทรีย์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของชาวชุมชน ในภาวะที่ราคายางไม่ได้สูงเหมือนเดิม เป็นการพึ่งพาตนเองแบบพอเพียงแบบหนึ่ง
 
ซึ่งปฏิญญา "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อำเภอแว้ง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคงทางอาหาร" มีเป้าหมาย 4 ประการคือ 1.ร่วมกันทบทวนปฏิบัติการตนเอง จนเป็นวิถีชุมชนเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 2 เรื่องขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนอันสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยและสอดคล้องกับเป้าหมายที่สังคมโลกได้ตกลงกันไว้
 
2.การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวท้องถิ่น โดยในปัจจุบันได้อนุรักษ์และดำเนินการส่งเสริมการเพาะปลูกพันธุกรรมข้าวท้องถิ่น 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ซือรีบูกันตัง และพันธุ์มะจานู และจะดำเนินการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวท้องถิ่นเพิ่มเติม อันส่งผลให้เกษตรกรมีความรัก ความหวงแหนในบ้านเกิด มีธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชที่มีการจัดการที่ดี 3.ขับเคลื่อนให้เกิดการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยในปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 60 ครัวเรือน จำนวนกว่า 200 ไร่
 
และ 4.แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการค้นหาและกระตุ้นให้เกิด "โรงเรียนชาวนา" ในตำบลและอำเภอในจังหวัดนราธิวาส เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสานเครือข่ายและ ให้เกษตรกรที่สนใจได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ที่นำไปสู่การทำนาได้จริง และทำนาได้มากกว่าข้าว ทั้งนี้ สุรพล พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ก็กล่าวเช่นกันว่า พร้อมสนับสนุนและกำหนดให้เป็นนโยบายของจังหวัดในการฟื้นนาร้าง โดยจะขยายไปในเขตอำเภออื่นๆ รวมทั้งเป้าหมายในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เพราะการหันกลับมาทำนาจะช่วยลดความเสี่ยงของชุมชน
โดยเฉพาะในช่วงที่ราคายางตกต่ำ!!!
บรรยายใต่ภาพ
มูฮำหมัด บิง
เด็กๆ เรียนรู้วิถีชาวนาร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชน