'กฤษฎา' งัดกฎหมาย! ประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ สู้สินค้าล้น ฉุดราคาตกPublisher : 26 June 2018
'กฤษฎา' งัด พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ ปูพรมทั่วประเทศปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตามความต้องการของตลาด หวังอุ้มเกษตรกร ก้าวพ้นกับดักสินค้าล้น ราคาตกต่ำ ขีดเส้นปลัดเกษตรฯ ส่งการบ้าน 10 ก.ค. นี้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำด้วยแผนการผลิตทางการเกษตร ที่ได้มีนโยบายก่อนหน้านี้ในการบริหารจัดการเกษตรกรรมแผนใหม่ โดยให้มีการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาตกต่ำ ในขณะเดียวกันยังช่วยคาดการณ์ผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลนได้ ประกอบกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีผู้รับผิดชอบผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเป็นรายสินค้า โดยเรียกว่า มิสเตอร์ข้าว มิสเตอร์สับปะรด และมิสเตอร์ยางพารา ฯลฯ นั้น
"การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ทำให้เมื่อมีผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ เช่น ยางพารา สับปะรด กุ้งขาว แวนนาไม จึงมีกลุ่มเกษตรกร หรือ องค์กร ที่อ้างว่า เป็นตัวแทนเกษตรกรออกมาเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ผ่านการสนับสนุนงบประมาณชดเชยต้นทุนการผลิต หรือ ขอรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตการรับจำนำและประกันราคาผลผลิต ซึ่งอาจนอกเหนือภารกิจของกระทรวง แต่กระทรวงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือ เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรได้
ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดแผนการผลิตผลทางการเกษตรเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นรูปธรรม มีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ในการดำเนินการ จึงให้ปลัดกระทรวงดำเนินการ ดังนี้
1.มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบมิสเตอร์ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในแต่ละชนิด พืช ประมง ปศุสัตว์ สำรวจและจัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละฤดูกาลผลิต ในด้านพื้นที่การผลิตและปริมาณผลผลิต รวมถึงข้อมูลอื่นที่จำเป็นต่อการวางแผนการผลิต โดยจัดทำข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในปี 2561/2562 พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละปี
2.ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อขอทราบข้อมูลความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละชนิด พืช ประมง ปศุสัตว์ ที่เป็นข้อมูลปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน"
นายกฤษฎา กล่าวว่า ทางกระทรวงจะนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนข้างต้น มาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตร โดยจะกำหนดพื้นที่ ชนิด ปริมาณ ที่เหมาะสมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรในแต่ละปี เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่เกินความต้องการของตลาดและราคาตกต่ำ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผลิตสินค้าเกษตรที่ไร้ทิศทาง หรือ ปราศจากแผน ทั้งนี้ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ศึกษาแนวทางตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวในประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรต้องทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตร หรือ กำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ต้องทำการเกษตรตามสภาวะแวดล้อม คุณภาพดิน การรวมกลุ่มทำการเกษตร การปรับเปลี่ยนมาทำการปลูกพืช หรือ ปศุสัตว์ ที่มีต้นทุนต่ำ และตลาดมีความต้องการสูงได้หรือไม่ และเมื่อเกษตรกรรายใดทำการเกษตรกรรมตามแผนดังกล่าว ก็จะไม่สามารถมาร้องขอความช่วยเหลือใด ๆ จากกระทรวง หรือ หน่วยงานของรัฐได้อีกต่อไป ทั้งนี้ ขอให้เร่งรัดรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ก.ค. นี้