วิพากษ์ต้นตอล้มเหลวแก้ปัญหายางพารา! เกษตร/ทำกิน/สัตว์เลี้ยง >
สกุ๊ปข่าว/บทความ : 24 ส.ค. 2561
วิพากษ์ต้นตอล้มเหลวแก้ปัญหายางพารา ชี้รัฐบริหารจัดการสวนทาง"พ.ร.บ.กินได้"
กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าเมื่อสองกูรูด้านยางออกมาวิพากษ์การแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาลล้มเหลวไม่เป็นท่า ภายใต้ พ.ร.บ.การยางฯ ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรชาวสวนยางได้ชื่อว่า พ.ร.บ.กินได้ ในขณะที่ตัวแทนคนกรีดยางชี้หมดหวังรัฐบาลชุดนี้ พร้อมรอวันฟ้าเปิดอีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในรายการ ?เปิดบ้านการเกษตร? ทางสถานีวิทยุมก. โดยระบุว่า หลังจาก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มีผลบังคับใช้ในปี 2558 เกษตรกรชาวสวนยางกลับไม่ได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บฉบับนี้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เนื้อหาในพ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพ.ร.บ.กินได้ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบยางพาราทั้งระบบอย่าง การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กลับไปร่างกฎหมายลูกให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับพนักงานเกือบทั้งสิ้น เสมือนให้เกษตรกรเป็นเพียงตรายางเท่านั้น
?อยากเรียนตามตรงว่าผมเองเป็นคนร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา ใช้เวลา 10 กว่าปีกว่าจะสำเร็จ ที่จริงพ.ร.บ.ฉบับนี้กินได้จริง เพราะมาตรา 49 อนุ 3 เอาเงินเซสมาพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 45 เปอร์เซ็นต์ มาตรา 49 อนุ 5 เกิดแก่เจ็บตายรักษาได้ มาตรา 49 อนุ 6 เบิกค่าเดินทางต่างๆ ได้ พอเข้าไปสู่กยท.เขาไปทำกฎหมายลูกขึ้นมา เราเป็นเพียงแค่ตรายาง ตามมาตรา 49 อนุ 1 เอาเงินนี้ไปบริหารจัดการพนักงานกยท. เขาใช้เงินก้อนนี้เป็นค่าสวัสดิการต่างๆ ดีกว่าราชการเสียอีก?
อุทัย เผยต่อว่า เงินเซสที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ส่งออกยางพาราร้อยละ 2 จากมูลค่าการส่งออกทุกวันนี้เป็นของเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง ไม่ใช่เป็นเงินผู้ส่งออกแต่อย่างใด แต่การบริหารจัดการเงินก้อนนี้กลับไม่ตกถึงมือเกษตรกรหรือช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าหากไม่มีการส่งออกยางพาราหรือส่งออกน้อยก็จะมีผลกระทบต่อเงินก้อนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสวัสดิการของพนักงาน กยท.โดยตรง
?รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้ยางพาราในประเทศ ท่านนายกฯ ก็ย้ำอยู่ตลอดว่าให้เอายางพารามาแปรรูปใช้ภายในประเทศให้มากที่สุด แต่ทุกหน่วยงานกลับเงียบหมด โดยเฉพาะกยท.ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงกลับไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เหตุผลที่เขาเฉยไม่ทำอะไรถ้าปล่อยเพิ่มมูลค่าเอาไปใช้ในประเทศมากๆ มันก็ส่งออกน้อย เมื่อส่งออกน้อยเงินเซสได้น้อย ไม่พอเลี้ยงกยท. มันมีผลกระทบต่อพวกเขา พอพูดถึงภาคอุตสาหกรรมคนเงียบหมดไง ไม่อยากแปรรูป ผมมองไม่ผิดหรอก?
ประธานสยยท.ยังเสนอแนะวิธีแก้ไขให้เกษตรกรชาวสวนยางอยู่รอด ในภาวะวิกฤติด้านราคา โดยหันมาลดจำนวนต้นปลูกต่อไร่ จาก 80 ต้นต่อไร่เหลือ 40 ต้นต่อไร่ ส่วนพื้นที่ว่างให้ปลูกพืชแซมยางและพืชร่วมยางอย่างเช่น กระถิน สะตอ ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงหมูหลุม นำขี้มาทำปุ๋ย ปลูกพืชผักสมุนไพรหรือพืชอายุสั้นขาย ซึ่งจะมีรายได้ทุกวัน โดยไม่ต้องหวังพึ่งรายได้หลักจากยางพาราเหมืิอนในอดีต การที่จะให้คนใต้เปลี่ยนจากอาชีพทำสวนยางไปปลูกพืชอย่างอื่นคงยากมาก เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่มีแต่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน
?คนใต้จะปลูกสะตอในสวนยาง ปลูกไร่ละต้นก็สามารถเลี้ยงเจ้าของสวนได้ การจะให้โค่นยางทิ้งแล้วปลูกพืชอย่างอื่นคงเป็นไปได้ยาก เพราะภาคใต้มีแต่ยางกับปาล์ม ทางแก้วันนี้จะต้องไม่หวังพึ่งส่งออกยางดิบแต่หันมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์แทน?
อุทัย เผยอีกว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับนักวิชาการนักวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยางพาราเพื่อพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนจะขยายผลไปสู่สถาบันเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เขาหันมาแปรรูปยางพาราแทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบ เช่น ยางก้อนถ้วย น้ำยางสดหรือยางแผ่นรมควัน โดยมีงานวิจัยมารองรับ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่
?ยางกินไม่ได้ ไม่เหมือนข้าวหรือพืชอื่น ต้องนำมาแปรรูปอุตสาหกรรมเท่านั้น ทำไมเราไม่คิดเพิ่มมูลค่ายาง ทำไมให้เกษตรขายยางดิบอยู่เรื่อย นักวิจัยตั้งเยอะแยะที่ทำวิจัยเรื่องยาง ตอนนี้ผมร่วมกับนักวิจัยทำนวัตกรรมเรื่องยางครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยทุนของ สกว. ภาคเหนือที่ ม.แม่โจ้ อีสาน ม.อุบลฯ ใต้ที่ ม.สงขลา โดยมี ม.เกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลาง ต่อไปการออกใบเซอร์ส่งออกยางไม่ต้องมาที่กรุงเทพฯ ส่งทางเหนือให้ไปติดต่อที่ ม.แม่โจ้ได้เลย อีสานและใต้ก็เหมือนกัน?
ขณะที่
มนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางที่เรียกว่าต้นน้ำเดือดร้อนลำบากมาก ชีวิตแต่ละวันมืดมน ฝากความหวังการแก้ไขปัญหาไว้กับรัฐบาลคสช.มาตั้งแต่ปี2557 จนวันนี้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือที่รัฐบาลเอามาใช้ โดยเฉพาะพ.ร.บ.การยางฯ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 58 เป็นพ.ร.บ.กินได้ สร้างเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อมาแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 66.9 บาท ณ วันนี้(24 ส.ค.)อยู่ที่ 49.39 บาท
?วันนี้พ.ร.บ.กินได้มันไม่ใช่แล้ว ความเดือดร้อนเหล่านี้ไม่เฉพาะต้นน้ำ เกษตรกรชาวสวน แม้แต่กลางน้ำ สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ต่างๆ วันนี้เริ่มล้มหายตายจากไปแล้ว ต้องบอกว่าวันนี้เดือดร้อนสุดๆ แล้ว ส่วนปลายน้ำ พ่อค้าส่งออกยังอยู่ได้ มันคืออะไร แต่พวกต้นน้ำ กลางน้ำไปหมดแล้ว วันนี้อยู่กันแบบสิ้นหวัง ผู้นำเกษตรกรสงบนิ่งหมดแล้ว เพราะเวลามันจะจบแล้ว มีหวังอยู่หน่อยรอวันฟ้าเปิด ใกล้เลือกตั้งเผื่อจะมีอะไรดีขึ้น?
มนัส ยังบ่นน้อยเนื้อต่ำใจ ไฉนรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจึงให้ความสำคัญเรื่องข้าวมากกว่ายางพารา ทั้งๆ ที่มูลค่าการส่งออกเทียบเคียงกันไม่ได้ จากข้อมูลพบว่าข้าวส่งออกแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2 แสนล้าน ในขณะที่ยางพาราส่งออกปีละ 3-4 แสนล้านบาท มีโครงการต่างๆ ช่วยเหลือชาวนามากมาย แต่ยางพารากลับไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน แม้จะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ไม่เคยถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างข้าวก็มีกรมการข้าว ส่วนยางพารามี กยท. เป็นหน่วยงานเล็กๆ แล้วยังไม่สามารถพึ่งพิงได้
?แต่ก่อนมีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พอจะเข้าใจได้ว่าดูแลต้นน้ำจริง พอมาควบรวม 3 หน่วยงานแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กยท. หน้าที่หลักของเขาก็คือมานั่งสุมหัวโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวสวนโค่นยาง มันกลับตาลปัตรหมดเลย เมื่อก่อนใครมีที่มาส่งเสริมให้ปลูกยาง ตอนนี้ใครมีสวนยางให้เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นอีกแล้ว พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไปไม่ถูกเลย นโยบายรัฐปรับเปลี่ยนตลอด? นายกสมาคมคนกรีดยางฯ กล่าวย้ำ
วิจัยทางออกมุ่งแปรรูป?ตลาดนำการผลิต?
ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยผู้ประสานงานชุดโครงการยางพารา (สกว.)เผยกับ ?คม ชัด ลึก? ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายางพารา โดยระบุว่ารากฐานของอุตสาหกรรมยางพาราคือชาวสวนยาง การที่เราจะไปไกล 4.0 หรือ 5.0 โดยที่ไม่สนใจรากฐานให้เข้มแข็งคงไม่ได้ สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณภาพโดยต้องมีงานวิจัยมาสนับสนุน โดยแบ่งงานวิจัยยออกเป็น 3 เฟส ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับต้นน้ำ นอกจากเรื่องคุณภาพต่างๆ มีงานวิจัยเข้าไปจับแล้ว ยังมีการบริหารจัดการเช่นปลูกพืชแซมยาง ปลูกพืชร่วมยาง ซึ่งขณะนี้ได้มีงานทางวิชาการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำได้จริง
?ต้นน้ำเมื่อเราได้น้ำยางสดหรือยางก้อนถ้วยก็นำมาเแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนักเช่น วัตถุดิบที่มาจากน้ำยางสดแปรสภาพเป็นน้ำยางข้น จากน้ำยางข้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือจากยางแห้งเป็นยางแผ่นรมควันหรือยางแท่งมาตรฐาน พูดถึงกลางน้ำ ถ้ากลุ่มสหกรณ์มีความเข้มแข็งสามารถหันมาทำกลางน้ำได้ด้วย สามารถแปรรูปเป็นน้ำยางข้นได้ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลงหรือว่าทำแผ่นรมควันได้ความมั่นคงก็จะมากขึ้น เพราะจะมีทางเลือกทางด้านการตลาดมากขึ้นด้วย?
ดร.วีระศักดิ์ย้ำด้วยว่าการแปรรูปกลางน้ำจะต้องมีต่อไป แต่จะทำอย่างไรให้มีมากขึ้นหรือทำน้อยได้มากมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายไปสู่การแปรรูปปลายน้ำ เมื่อได้วัตถุดิบที่ีคุณภาพจากต้นน้ำและกลางน้ำ มาถึงปลายน้ำก็จะง่าย เพราะปลายน้ำดีที่สุดคือตลาด
?เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถ้ามีตลาดรองรับ มีการศึกษาการตลาดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปลายน้ำก็จะไม่ยุ่งยากนัก แล้วปลายน้ำยังต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาพัฒนาให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นผลิตภัณฑ์ยางประหยัดพลังงานหรือผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรืออาจจะคิดข้ามสเต็ปจากต้นน้ำมาเป็นปลายน้ำได้ไหม ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ทำได้ง่าย สิ่งเหล่านี้ต้องการงานวิจัยพัฒนามาช่วยตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้? นักวิจัยคนเดิมกล่าวย้ำ