ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: รายงานพิเศษ: 'ไทยนิยม ยั่งยืน'หนุนสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อนสร้างตลาด-สู่การค้าระหว่างประเทศ  (อ่าน 609 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 87601
    • ดูรายละเอียด

คอลัมน์: รายงานพิเศษ: 'ไทยนิยม ยั่งยืน'หนุนสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อนสร้างตลาด-สู่การค้าระหว่างประเทศ




หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- พุธที่ 10 ตุลาคม 2561 00:00:56 น.
 
โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพ ให้สหกรณ์สามารถพัฒนากิจกรรมของสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผ่านทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์เพื่อพัฒนาสหกรณ์ต่อไป
 
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัด จังหวัดจันทบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน 8,541,000 บาท และสหกรณ์จ่ายสมทบอีก 9,490,000 บาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการรวบรวมการแปรรูปยางพารา ให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน และรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี โดยอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุน คือ อุปกรณ์ตีฟองเพื่อการแปรรูปหมอน ยางพารา ขนาด 120 ลิตร จำนวน 2 ชุด และเครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์แบบคลื่นวิทยุ พร้อมตู้อบลมร้อน ขนาด 40 Kw. จำนวน 1 ชุด


นายนิพนธ์ เลาห์กิติกูล ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านสะท้อน จำกัด เล่าว่า เมื่อก่อนยางพาราราคาไม่ค่อยดี และ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำแปลงมันสำปะหลัง ต่อมารัฐบาลส่งเสริมการปลูกยาง จึงทำให้มีสวนยางเกือบหมื่นไร่ แต่เป็นการทำสวนยางเป็นแบบต่างคนต่างทำ จึงทำให้มีปัญหาเรื่องอำนาจการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้มีงบประมาณสร้างโรงงานยางแผ่นรมควันให้กับหมู่บ้าน เมื่อปี 2542 โดยให้รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เพื่อนำน้ำยางดิบจากสมาชิกมาแปรรูปยางแผ่น ปัจจุบันมีสมาชิก 109 ราย และหลังจากที่มีโรงงานยางแผ่นรมควัน พ่อค้าก็เข้ามาซื้อน้ำยางสดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้สหกรณ์มีน้ำยางสดน้อย กอปรกับสมาชิกบางรายเริ่มทำยางแผ่นเอง สหกรณ์ฯเห็นว่าการรับซื้อแต่น้ำยางอย่างเดียวไม่สามารถสร้างรายได้เท่าที่ควร จึงเริ่มทำการรวบรวมยางแผ่นดิบและทำตลาดประมูลยาง โดยประมูลอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ทุกวันจันทร์ ช่วงแรกมีรายได้ดีมาก เกือบ 100 ตันต่อวัน เฉลี่ยประมาณ 2,000 กว่าตันต่อปี
 
แต่เนื่องจากราคายางตกต่ำ สหกรณ์ฯจึงเปลี่ยนจากการรวบรวมยางแผ่นให้โรงงานอย่างเดียว เป็นทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา โดยช่วงแรกที่เริ่มผลิตหมอนยางพารานั้น สหกรณ์ได้มีการจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ โดยมีทุนตั้งต้น 1 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักร 650,000 บาท ที่เหลือเป็นทุนหมุนเวียน เช่น น้ำยางข้น ค่าแรงงาน และซื้อวัสดุอื่นๆ ผลิตหมอนได้ 50 ใบต่อวัน ซึ่งผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราของสหกรณ์ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี มีการสั่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลิตสินค้าไม่ทัน จึงได้ทำการซื้อเครื่องตีโฟมเพิ่มอีก 1 ชุด ทำให้ผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 100 ใบต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
 
ต่อมามีการประสานความร่วมมือกับสหกรณ์เครือข่าย ในการผลิตและจำหน่ายกับคู่ค้าเอกชน ภายใต้แบรนด์ "เอราวัณ" และแบรนด์อื่นๆ เพื่อผลิตสินค้าประเภทหมอนยางพารา ส่งขายประเทศจีน และขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย มียอดจำหน่ายอยู่ที่หลักพันใบ และยังมีช่องทางการตลาด online shop channel และ TV direct อีก จำนวนยอดขายในช่องทางนี้ก็อยู่ที่หลักพันใบเช่นกัน
 
ขณะนี้สหกรณ์ฯ ได้รับอุปกรณ์ ตีฟองเพื่อการแปรรูปหมอนยางพารา ขนาด 120 ลิตร จำนวน 2 ชุด เรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือเครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์แบบคลื่นวิทยุ พร้อมตู้อบลมร้อน ขนาด 40 Kw. จำนวน 1 ชุด ซึ่งนำเข้าจากอิตาลี คาดว่าจะได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ ซึ่งงบประมาณจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทำให้สหกรณ์ฯ มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น สามารถรองรับการผลิตได้คราวละมากๆ จากที่เคยผลิตได้คราวละ 40-50 ใบ ก็เพิ่มเป็นคราวละ 80-100 ใบเลยทีเดียว จากการที่ สหกรณ์ฯ ผลิตหมอนยางพาราได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ตามความต้องการของตลาด มีการใช้น้ำยาง พาราเพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกขายน้ำยางได้มากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการขยายกลุ่มแม่บ้านที่รับจ้างเย็บปลอกหมอนให้กับสหกรณ์จากเดิม 15 ครัวเรือน ขณะนี้มีมากกว่า 30 ครัวเรือนแล้ว
 
ถือได้ว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืน นี้ สร้างความสุขให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ เป็นอย่างมากเพราะทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสหกรณ์ฯ ยังสามารถขยายตลาดหมอนยางพาราได้อีกมากในอนาคต