ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ ไปไม่ถึงไหน (เข้าตำราเสียน้อยเสียยาก)  (อ่าน 632 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82354
    • ดูรายละเอียด

คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: เสียน้อยเสียยาก


หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 00:00:10 น.

 
เมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช บ่นอยู่ว่ามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ ไปไม่ถึงไหน มีเพียงกรมชลประทานเท่านั้น ที่ดำเนินการอยู่ ถึงกระนั้นก็ใช้ยางพาราไปเพียง 1,129 ตันเท่านั้น จากเป้าหมายโครงการสูงถึง 150,000 ตัน



เรื่องของเรื่องคือ เมื่อปี 2560 ครม. มีมติช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ หลายโครงการ ที่สำคัญคือ โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ประมาณ 80 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรกู้เพื่อเป็นค่าลงทุน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า วงเงิน 5 พันล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุน หมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
 
โครงการที่เกี่ยวกับเงินกู้ทั้งหลาย ธ.ก.ส. รับไปดำเนินการ โดยรัฐบาลแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา 3% ที่เหลือ 0.5 - 1% ผู้กู้เป็นคนจ่าย
 
ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ตั้งท่าชงเรื่องเข้า ครม.ขอใช้งบประมาณกลางปี 2561 ช่วยเหลือชาวสวนยางเฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีพ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยอ้างว่าเป็นการบรรเทาปัญหาราคายางตกต่ำ แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลว่าอย่างไร และเงียบๆ ไป... คงคิดได้ว่าวิธีการดังกล่าวไม่สามารถช่วยให้ราคายางกระเตื้องขึ้นมาได้
 
ส่วนโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ น่าจะเป็นโครงการที่ทำได้ง่ายที่สุด และสามารถทำให้ราคายางเป็นที่พอใจของเกษตรกรชาวสวนยางจริงๆ ไม่ใช่พ่อค้ายาง กลับไปไม่ถึงไหน
 
โครงการนี้ เปิดรับสมัครเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการ โดย กยท. จะรับซื้อยางจากชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. เพื่อขายให้กับหน่วยงานภาครัฐที่แจ้งปริมาณความต้องการใช้ยางในเบื้องต้น หน่วยงานที่ว่านี้ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2561 โดยมี เป้าหมายการใช้ยาง 150,000 ตัน
 
รัฐมนตรีกฤษฎา แถลงว่า หน่วยงาน ต่างๆ รับมอบยางไปแล้วเพียง 1 พันตันเศษ ยังไม่ได้รับมอบอีกกว่า 4 หมื่นตัน รวมปริมาณยางในโครงการช่วง 9 เดือน ยังไม่ถึง 5 หมื่นตัน หรือยังไม่ถึง 1 ใน 3 ของเป้าหมาย
 
อันที่จริงถ้าใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของการทำถนนทั่วประเทศ ปริมาณยาง 1.5 แสนตันนี้ อาจไม่พอด้วยซ้ำ ติดปัญหาอยู่นิดเดียวคือ กรมบัญชีกลาง กับกระทรวงคมนาคม กำหนดราคากลางถนนที่ทำจากยางพาราไว้สูงกว่าถนนที่ราดแอสฟัลต์ หรือยางมะตอย ถึง 30% นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงให้ไปกำหนดราคากลางมาใหม่
 
เรื่องนี้ กยท.ของ รักษาการ ผู้ว่าการ กยท. เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ น่าจะชี้แจงได้ เพราะเท่าที่ทราบ การใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนนั้น ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือเฉพาะ และต้องเพิ่มความยุ่งยากในการผสมมากกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องมีการลงทุนที่มากกว่า แต่ถ้าคิดถึงอายุการใช้งาน และคุณสมบัติของถนนยางพาราแล้วคุ้มค่ากว่าถนนยางมะตอยมาก
 
ที่สำคัญคือ สามารถช่วยเหลือชาวสวนยางให้ขายยางได้ในราคาที่ไม่ต่ำเกินไป รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณหลายหมื่น หลาย พันล้านบาทช่วยชาวสวนยางอย่างที่ผ่านมา
 
สรุปคือ อย่าคิดเล็กคิดน้อยเลยท่าน เงินงบประมาณที่เสียไปกับการช่วยเหลือ เกษตรกรในโครงการต่างๆ มากกว่านี้มากมายนักยังเสียได้ อย่าให้เข้าตำรา "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" เลยนะขอรับ หรือว่าถนนยางพารา ไปขัดผลประโยชน์ใครหรือเปล่า....ก็ไม่รู้สินะ