ชี้ทุ่มเงินอุ้ม'วิกฤติยาง'ผิดทาง
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2561 00:00:32 น.
กรุงเทพฯ * สยยท.ต้านอุ้มยางไร่ละ 1,800 แก้วิกฤติผิดทาง ซัดทุ่มเงินตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนแบบเดิมที่ไร้ผล ด้านนักวิชาการหนุนแก้ที่ภาคผลิต เผยยางไทยผลผลิตต่ำต้นทุนสูง หนุนโค่นยางเก่าเร่งวิจัยพัฒนาพันธุ์
เมื่อวันพุธ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยาง พาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวถึงกรณี ครม.มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สยยท.เคยให้ความเห็นไปแล้วว่าชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากวงเงินดังกล่าวจะให้ได้แต่เฉพาะสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดประมาณ 1.3 ล้านครอบครัว ขณะที่ชาวสวนยางอีกกว่า 8 ล้านครอบครัวซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์จะไม่ได้รับประโยชน์
"ตรงนี้เป็นการสร้างมาตร ฐานที่ไม่เท่าเทียมกันและจะทำ ให้ชาวสวนเกิดความขัดแย้งกัน เองด้วย ทั้งที่ชาวสวนประมาณ 10 ล้านครอบครัวต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารากิโลกรัมละ 2 บาทเท่ากัน การแก้ปัญหาเช่นนี้เหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะเคยแก้มาแล้วแต่ไม่สามารถทำให้ราคายางดีขึ้น" นายอุทัยกล่าว
ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ รมว.จะเป็นประธานในวันที่ 29 พ.ย.นี้ ตนจะคัดค้านมติ ครม.ดังกล่าว และจะเสนอให้รัฐบาลเร่งผลิตถนนยางพารา ซอยซีเมนต์ เพื่อนำยางออกจากตลาด ตรงนี้จะทำให้ราคายางดีดตัวขึ้นทั้งระบบ เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดเพราะชาวสวนจะได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน
วันเดียวกัน รองศาสตรา จารย์วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบให้เกษตรกรไทยเชิงสังคม แต่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องแก้ที่ภาคการผลิต และจากการวิจัยพบว่า ผลผลิตยางพาราต่อไร่ของประเทศไทยมีแนวโน้มทรงตัวโน้มเอียงไปทางลดลง ซึ่งตรงกันข้ามกับประ เทศอินเดียและเวียดนามที่ปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากกว่าประเทศ ไทยไปแล้ว โดยเฉพาะยางพาราในภาคเหนือและภาคอีสานให้ผลผลิตต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
"จึงเสนอแนวทางดังนี้ เร่งส่งเสริมการโค่นต้นยางเก่าที่ทรุดโทรมและมีอายุมาก โดยให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบันเพื่อเร่งการตัดสินใจโค่นยาง โดยทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราใน ประเทศเป็นวัตถุดิบ ลดภาษีสิน ค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพาราให้สอดรับกับอุปทานไม้ยางพาราที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอไว้ ซึ่งนโยบายนี้มาเล เซียใช้แล้วเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยใช้ข้อมูลจาก Agri Map ส่วนในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำควรส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมทดแทน" รศ.วิษณุ ระบุ
นอกจากนี้ จากสถิติของกรมพัฒนาที่ดินพบว่า พื้นที่ปลูกยางพาราที่ไม่เหมาะสมและเหมาะสมน้อยมีสูงถึง 4.9 ล้านไร่ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางพัฒนาพันธุ์ยางที่มีผลผลิตต่อไร่สูงและมีคุณลักษณะตามที่ตลาดต้องการ รวมทั้งหาแนวทางสร้าง มูลค่าเพิ่มตลอดจนห่วงโซ่อุปทานยางพารา เพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันจากยางธรรมชาติที่ผลิตจากต้นวายยูลีและต้นรัสเซียแดนดิไลน์ในอนาคตอันใกล้นี้.