กยท.มั่นใจราคายางมีเสถียรภาพแตะ50บ./กก.
หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2562 00:00:56 น.
มาตรการรัฐเห็นผล3ปท.ไตรภาคีร่วมผลักดัน
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ยางเริ่มดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลส่งเสริมให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตลาดต่างประเทศเป็นผู้กำหนดราคา จากปัจจุบันที่ใช้ยางในประเทศเพียง ประมาณ 600,000 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 14 ของกำลังการผลิตทั่วประเทศคือ 4.5 ล้านตันต่อปีเท่านั้น โดยเฉพาะการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มขึ้น เช่น ยางปูสนามฟุตซอล ถนนยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต และโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ที่กยท.จะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร จะใช้น้ำยางสดมากกว่า 1.44 ล้านตัน
นอกจากนี้ ล่าสุดได้มีการประชุม สภาไตรภาคียางพารา (ITRC) สมัยพิเศษประกอบด้วย 3 ประเทศสมาชิกคือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงานร่วม 3 ประเทศหาข้อสรุปออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งจะประชุมอีกครั้งเร็วๆนี้ โดยพิจารณาใช้ 5 มาตรการ คือ 1. มาตรการจำกัดปริมาณส่งออกยาง โดยพิจารณาหาปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ระหว่าง 200,000-300,000 ตัน 2. มาตรการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศของทั้ง 3 ประเทศ 3.มาตรการลดพื้นที่ปลูกยาง เพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน 4.การจัดตั้งตลาดกลางซื้อ-ขายยางพาราในตลาดซื้อ-ขายจริง และตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยเป็นตลาดที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างภูมิภาค (Regional Rubber Market : RRM) และ 5. การตั้งสภายางแห่งอาเซียน (ASEAN Rubber Council : ARC) เพื่อเป็นเวทีให้ทั้ง 3 ประเทศมาพูดคุยกันตั้งแต่การแปรรูปยางพารา การศึกษาค้นคว้า งานวิจัย รวมทั้งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วทั้ง 3 ประเทศต้องทำทุกมาตรการพร้อมกัน เพื่อให้ราคายางปรับตัวขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ประเทศเคยใช้มาตรการจำกัดการส่งออกมาแล้วเมื่อปี 2561 จำนวน 350,000 ตัน โดยไทยจำกัดปริมาณส่งออกมากที่สุดคือ 230,000 ตัน อินโดนีเซีย 95,000 ตัน และมาเลเซีย 20,000 ตัน ส่วนครั้งนี้แต่ละประเทศจะจำกัดปริมาณการ ส่งออกเท่าใดขึ้นอยู่กับการประชุมของคณะทำงานร่วมทั้ง 3 ประเทศ
"จากมาตรการของรัฐบาลและ 5 มาตรการร่วมของสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ คาดว่าจะสร้างเสถียรภาพราคาให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าต้นทุน การผลิต ไม่ทำให้เกษตรกรขาดทุน โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 มีราคาอยู่ในระดับ 47-48 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว" รักษาการผู้ว่าการ กยท.กล่าวในที่สุด