ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหายางตาย ผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมผลิตยางแท่งไทย  (อ่าน 1332 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82283
    • ดูรายละเอียด
ปัญหายางตาย ผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมผลิตยางแท่งไทย

4 สิงหาคม
ปัญหายางตาย ผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมผลิตยางแท่งไทย

ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้

?ยางตาย เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตยางแท่งอย่างร้ายแรง และยังไม่มีวี่แววว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำยางตายไปปะปนกับยางก้อนถ้วยหรือเศษยางจะหายไปจากวงการแต่อย่างใด กลับได้รับการร้องเรียนจากโรงงานยางแท่งอย่างต่อเนื่อง ยางแท่งที่มียางตายปะปนก่อให้เกิดความเสียหายต่ออนาคตอุตสาหกรรมยางแท่งของไทย ขาดความน่าเชื่อถือจากผู้ใช้ยางทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งราคายางไม่สู้ดีนัก กลับทำให้ต่างประเทศหันไปใช้ยางแท่งที่ผลิตจากประเทศอื่น และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการยางแท่งไทย เพียงแต่หวังกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ความมักง่ายของตัวเอง จากการนำยางตายมาปะปนกับยางก้อนถ้วย ยางเครป หรือเศษยาง เนื่องจากเศษยางตายที่กระจายอยู่ในยางแท่งหากนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางล้อ จะทำให้ล้อยางเกิดการฉีกขาดและระเบิดในขณะขับขี่ได้ จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก
?ในการผลิตยางแท่งจากยางแห้ง วัตถุดิบหลักที่สำคัญ ได้แก่ ยางก้อนถ้วย ยางเครป ยางแผ่นดิบ ยางคัตติ้ง และเศษยางที่เป็นยางก้นถ้วย ยางตามรอยกรีด ยางแท่งที่ผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพดีจะสามารถผลิตเป็นยางแท่งเกรดสูง คือ STR 10 ส่วนยางแท่งที่ผลิตจากเศษยาง จะผลิตได้ยางแท่งเกรด STR 20 ซึ่งมีคุณภาพต่ำ เศษยางมักมีสิ่งปะปนมากับยางแท่ง ประกอบด้วย ทราย ดิน กรวด ใบไม้ เศษไม้ พลาสติก เชือกฟาง กระสอบปุ๋ย ส่วนสิ่งปลอมปนที่ตั้งใจให้ติดมากับก้อนยาง ได้แก่ ก้อนหิน เศษเหล็ก ยางเหนียวเยิ้ม และยางตาย (Vulcanised rubber) ซึ่งการปลอมปนยางตายในวัตถุดิบยางแท่งนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุด เนื่องจากยางชนิดนี้ไม่ใช่ยางดิบก่อให้เกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ยางทั้งด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเช่นกัน

ยางตาย
?ยาง ((Vulcanised rubber) หมายถึงยางที่ผ่านการผสมสารเคมีสำหรับทำผลิตภัณฑ์และได้รับความร้อนจนโครงสร้างทางเคมีภายในโมเลกุลยางเปลี่ยนแปลง โดยปกติยางตายเป็นเศษเหลือใช้และสิ่งที่เสียหายที่เกิดในกระบวนการผลิต ทั้งผลิตภัณฑ์จากยางแห้งและจากน้ำยาง โดยที่โรงงานผลิตภัณฑ์ทิ้งเศษยางเหล่านั้นไปโดยมิได้เก็บและทำลาย เช่น ในกระบวนการผลิตน้ำยางข้น จากการใช้สารถนอมน้ำยางทีเอ็มทีดี (tetramethyl thiuram disulphide) และซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้โครงสร้างทางเคมีภายในยางเปลี่ยนแปลงเป็นยางตาย หรือในการผสมน้ำยางกับตัวประสานในการทำพาราซอยซีเมนต์ในการสร้างถนน เศษถุงมือยาง ท่อยาง ยางฟองน้ำ ยางเหล่านี้หากถูกนำไปปะปนรวมกับยางดิบจำหน่ายเป็นเศษยางให้กับโรงงานยางแท่ง จึงมีโอกาสเกิดยางตายได้นอกจากนี้อาจมีการจงใจนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วมาห่อหุ้มด้วยยางดิบแล้วนำไปปลอมปนกับเศษยางดิบ หรือมีการนำน้ำยางจากต้นพืชบางชนิดที่ให้น้ำยาง เช่น น้ำยางจากต้นตีนเป็ดซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกับยางพารา จะไม่สามารถผสมรวมกันกับน้ำยางธรรมชาติได้

วิธีสังเกตและตรวจสอบ
?ให้สังเกตรูปร่างลักษณะ น้ำหนัก และสีของยางที่มีความผิดปกติไปจากยางหรือเศษยาง โดยนำเศษยางที่สงสัยตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 5 กรัม แช่ในตัวทำละลายโทลูอีน 50 มิลลิลิตร ปิดปากภาชนะให้สนิท นานประมาณ 2 วัน ในระหว่างการแช่ให้เขย่าเป็นระยะ ๆ ถ้าเป็นยางดิบจะพองตัวและละลายเป็นสารละลายกาวใส ถ้าเป็นยางตายจะไม่ละลายในตัวทำละลายโทลูอีน

ความเสียหายจากยางตาย
?โรงงานยางแท่งจะมีระบบการตรวจหายางตายในวัตถุดิบ แต่หากยางตายเกิดหลุดเข้าไปในกระบวนการผลิตยางแท่ง จะถูกสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปะปนไปกับยางดิบเป็นจำนวนมากไม่สามารถแยกออกได้ เศษยางตายชิ้นเล็กที่ปะปนอยู่ในยางแท่ง จะก่อให้เกิดปัญหาในการทำผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์นั้นไม่สามารถใช้งานได้ ยางตายที่ปลอมปนในยางแท่ง ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อโรงงานยางแท่งและโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง เสียชื่อเสียงและขาดความเชื่อถือในคุณภาพยางแท่งของไทย และจะส่งผลถึงเกษตรกรชาวสวนยางในที่สุด

แนวทางแก้ไขปัญหา
?1. รณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ โดยการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมยางของประเทศ
?2. ทำความเข้าใจและตรวจสอบร้านค้ายางที่รับซื้อวัตถุดิบผลิตยางแท่งไม่ให้รับซื้อยางที่ปลอมปน หากมีการรับซื้อให้พิจารณาโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 โดยให้กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและตรวจสอบคุณภาพยางแท่งที่ผลิตในโรงงานยางแท่งอย่างใกล้ชิด
?3. ขอความร่วมมือจากโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้กำหนดมาตรการในการทำลายยางตายที่นำออกมากจากสายการผลิต เช่น โรงงานผลิตน้ำยางข้น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ที่นอน หมอน น้ำยางผสมตัวประสานในการทำพาราซอยซีเมนต์ เป็นต้น มิให้หลุดลอดออกสู่ภายนอกได้

ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง

อีกช่องทางในการติดตามข่าวสารสำหรับสมาชิก >>>http://www.rakayang.net/vip/view.php?idr=6119
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 13, 2019, 08:46:33 AM โดย Rakayang.Com »