ผู้เขียน หัวข้อ: 'ไวรัสโคโรน่า' ลามไม่หยุดป่วนราคายางตลาดล่วงหน้า  (อ่าน 705 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82354
    • ดูรายละเอียด

'ไวรัสโคโรน่า' ลามไม่หยุดป่วนราคายางตลาดล่วงหน้า

?ไวรัสโคโรน่า? ลามไม่หยุด ป่วนราคายางตลาดล่วงหน้า ขณะฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ ตัดสินใจระงับการผลิตที่โรงงานทั้ง3แห่งในจีนตั้งแต่วันที่ 4ก.พ. เพราะโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีนยุติการผลิต
ราคายางแผ่นในตลาดโลกผันผวนหนักในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ของจีน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้จะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่มีขนาดใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งยังวิตกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตยางรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ยางเป็นส่วนประกอบ

ราคายางแผ่นรมควัน (อาร์เอสเอส) ซื้อขายที่ตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้าโตเกียว (โทคอม) ทรุดตัวลงเหลือกิโลกรัมละ 173 เยน เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 เดือน หรือตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.ปี 2562 และลดลง 34.8 เยนหรือ 17% จากที่ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 14 ม.ค.

ราคายางแผ่นมีชะตากรรมเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆในตลาดโลก อาทิ น้ำมัน และโลหะนอกกลุ่มเหล็กที่ปรับตัวร่วงลงอย่างมากเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยจีน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนในการบริโภคยางแผ่นมากถึง 40% ของปริมาณการบริโภคยางแผ่นทั่วโลก ส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นยางรถยนต์

อย่างไรก็ตาม บรรดาค่ายรถยนต์หลายแห่งในจีนเลื่อนเดินสายการผลิตรถยนต์ตามปกติหลังจากสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีนเพราะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า รวมถึงบรรดาค่ายรถญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจเลื่อนการเปิดโรงงานผลิตในจีนเช่นกัน ซึ่งการเลื่อนเปิดโรงงานของค่ายรถจีน อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนก้าวขึ้นมาเป็น?ฮับ?การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในเอเชียของจีน อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของจีน อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ในพื้นที่อื่นๆของโลก

ฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ ตัดสินใจระงับการผลิตที่โรงงานทั้ง3แห่งในจีนตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. เพราะไม่มีชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน และถ้าหากการจัดซื้อจัดจ้างชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่มผู้ผลิตรถสัญชาติญี่ปุ่นและตะวันตกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ย่อมส่งผลกระทบทำให้ความต้องการยางรถยนต์ปรับตัวร่วงลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวลงมากกว่านี้เพราะปัจจัยต่างๆ อาทิ เกิดความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุดหนัก ย่อมส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และท้ายที่สุด จะทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ๆในหลายประเทศปรับตัวลดลง

?ถ้าภาวะชะงักงันของอุตสาหกรรมรถยนต์กินเวลายาวนานและเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ราคายางในตลาดโลกจะยิ่งปรับตัวลงต่อไป อาจกินเวลาครึ่งปีหรือหนึ่งปี? ชินนิจิ คาโตะ ประธานบริษัทชินนิจิ คาโตะ ออฟฟิศ บริษัทค้ายางแผ่น มีสำนักงานในกรุงโตเกียว ให้ความเห็น

ขณะที่แถลงการณ์บนเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐ ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.เป็นต้นไป การให้บริการด้านวีซ่าที่สถานทูตสหรัฐในกรุงปักกิ่ง และสถานกงสุลของสหรัฐในเฉิงตู กวางโจว เซี่ยงไฮ้ และเสิ่นหยาง จะถูกระงับชั่วคราว พร้อมระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในขณะนี้ทำให้สถานทูตสหรัฐและสถานกงสุลของสหรัฐในจีนมีเจ้าหน้าที่ในจำนวนจำกัด และทำให้ไม่สามารถให้บริการด้านวีซ่าในขณะนี้ได้ ยกเว้นผู้ที่ได้นัดหมายในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าในจีนนั้น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (เอ็นเอชซี) แถลงวันนี้ว่า ณ วันอาทิตย์ที่ 9 ก.พ. มีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีนเพิ่มขึ้นอีก 97 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 908 รายส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 3,062 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 40,171 ราย

นอกจากราคายางแผ่นในตลาดโลกจะผันผวน เพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แล้ว ต้นยางพาราในประเทศที่ปลูกยางเพื่อส่งออกอย่างเช่นในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เจอปัญหาการแพร่ระบาดของ เชื้อราที่ทำให้ใบต้นยางร่วงอย่างหนัก โดยต้นยางพาราแต่ละต้นจะมีลักษณะคล้ายกับการผลัดใบ แต่ข้อสังเกตคือ ใบของต้นยางพาราที่ร่วงลงมาแต่ละใบที่ติดเชื้อรา จะมีลักษณะเด่นชัดคือ ใบจะมีรูปร่างคล้ายวงกลมสีเหลืองเป็นจุด เหมือนรอยไหม้ ซึ่งเชื้อราชนิดนี้ แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก เหมือนกับพื้นที่ภาคใต้ของไทย

ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นว่าอาการใบร่วงจากเชื้อราชนิดนี้ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของต้นยางพารา เนื่องจากแต่ละต้นมีใบร่วงมากกว่า 90% จึงเป็นต้นเหตุทำให้ผลผลิตลดลงถึง 30-50%

ขณะที่ข้อมูลของกลุ่มศึกษายางระหว่างประเทศ (ไออาร์เอสจี) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกยางแผ่นรายใหญ่สุดด้วยปริมาณผลผลิตรายปีที่ 5.15 ล้านตัน หรือเท่ากับ 37% ของผลผลิตยางแผ่นทั่วโลก โดยอินโดนีเซียมีผลผลิต 25% ตามมาด้วยเวียดนาม 8% และจีน 6%

ตามปกติแล้ว ในภูมิภาคต่างๆที่เป็นแหล่งผลิตยางจะเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงเดือนก.พ.และเม.ย.ทำให้มีแนวโน้มว่าผลผลิตยางแผ่นจะลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งยังมีความวิตกกังวลว่าในเดือนเม.ย.และเดือนต่อๆไป ผลผลิตยางจะไม่ได้ตามเป้าเพราะปัญหาเชื้อรา

ส่วนราคายางแผ่นซื้อขายที่ตลาดสปอตของไทย ซึ่งสะท้อนปริมาณยางแผ่นและความต้องการของตลาด อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 46.5 บาท เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่าปรับตัวลงเล็กน้อยประมาณ 7% จากช่วงเมื่อไม่นานมานี้ ที่ราคาปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865746?utm_source=homepage&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=foreign&fbclid=IwAR2WviaNL9WjjtOPKYqq_D1JDkrgz-gHw644dHca8FTzJbjb-RB9xSB9Als